แผนบูรณาการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัดอุดรธานี – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมนภาลัย อำเภอเมืองอุดรธานี

● เผยความจำเป็นการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค มาจากการวางแผนในระดับพื้นที่พิเศษ ก่อนที่จะขยายออกไปในทุกภูมิภาค

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  ในการวางแผนการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาในระดับพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีเศษที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้ ตนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการวางแผนขับเคลื่อนจัดการศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศให้เกิดผลในทางปฏิบัติของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะพื้นที่พิเศษ ซึ่งหมายถึงพื้นที่จังหวัดชายแดน 27 จังหวัด, พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนรอบประเทศ 10 พื้นที่, การพัฒนา 3 เมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ศธ.ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อทบทวนการจัดทำแผนบูรณาการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษต่าง ๆ ดังกล่าวให้เกิดผลในทางปฏิบัติของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่ จ.ชลบุรี โดยเชิญนายกรัฐมนตรีมอบนโยบาย โดยที่ประชุมได้มีข้อสรุปให้มีการขยายผลการทำงานการวางแผนการศึกษาในพื้นที่พิเศษออกไปในระดับทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งต่อมาเป็นความสอดคล้องกับการทำงานของรัฐบาลที่ได้แบ่งการทำงานในระดับภาคของประเทศออกเป็น 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน อีกด้วย

ดังนั้น ศธ.จึงได้นำมาวางแผนต่อเนื่อง เพื่อขยายผลให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับภาค พร้อมได้มีการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคไปแล้วเมื่อวันที่ 18-20 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ จ.เชียงราย ซึ่งคณะทำงานของ ศธ. โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. จะได้หมุนเวียนดำเนินการจัดทำแผนระดับภาค ตามวงรอบที่ 1 จำนวน 6 ภาค โดยเริ่มต้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.อุดรธานี เป็นจุดแรก

● แผนยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้น “หลุดพ้นจากความยากจน สู่เป้าหมายการพึ่งตนเอง”

สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 20 จังหวัด โดยมีสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่เกี่ยวข้อง 5 ภาค คือ ศธภ. 10-14 ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ของสำนักงบประมาณ โดยมีทั้ง “จุดเน้นการศึกษากับการพัฒนาภาค” ทั้งมิติบูรณาการ (Agenda) และมิติกระทรวง/หน่วยงาน (Function) และ “จุดเน้นการศึกษาที่ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาภาค” คือ มิติพื้นที่ (Area)

ซึ่งทั้ง 6 ภาคดังกล่าวจะมีแนวทางพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป  โดยการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเน้นตามเป้าหมายระดับภาคคือ “หลุดพ้นจากความยากจน สู่เป้าหมายการพึ่งตนเอง”

● ย้ำในการทำงาน หากเราเริ่มต้นที่ดี เท่ากับงานสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในการทำงานใด ๆ หากเราเริ่มต้นที่ดี เท่ากับงานสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น การวางแผนที่ดีร่วมกันในครั้งนี้ ก็ถือเป็นการวางแผนขั้นต้นที่จะนำไปสู่ความสมบูรณ์ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ ศธ.เน้นเป็นอย่างมากในการวางแผนจัดการศึกษาคือ การที่ผู้เรียนมีอาชีพมีงานทำ โดยทุกหน่วยงานล้วนมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กศน.และอาชีวศึกษา จะยิ่งมีผลต่อการขับเคลื่อนในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

● ให้เน้นหลีกเลี่ยงก่อสร้างอาคารใหม่ ใช้ปรับปรุงอาคารเก่าๆ แทน

โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้ฝากแนวทางการทำงานและบริหารจัดการศึกษา ด้านการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างใหม่ ขอให้คำนึงถึงความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เพราะหากเราพิจารณาอาคารเก่า ๆ ที่ว่างอยู่ ยังคงสามารถไปปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ดังเช่นศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ จ.ชลบุรี หรือศูนย์พัฒนาบุคลากรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่ในพื้นที่สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ภาคใต้ จ.สงขลา ก็ได้นำอาคารเก่ามาปรับปรุงพัฒนาแทน เพื่อประหยัดงบประมาณและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าให้มากที่สุด

ย้ำเจตนารมณ์ของนายกฯ ต้องการสร้างการพัฒนาผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership)

นอกจากนี้ ฝากให้ที่ประชุมได้ร่วมกันรณรงค์สร้างการพัฒนาผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น (Transformational Leadership) ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในการพัฒนาบุคลากรทุกกระทรวง

ตัวอย่างที่ผ่านมา ซึ่ง ศธ.ได้นำเจตนารมณ์ดังกล่าวมาทำงานโดยเร็ว เช่น กรณีการประชุมผู้บริหาร กศน.ทั่วประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ฝากการบ้านให้ผู้บริหาร กศน.จังหวัด/กศน.อำเภอทั่วประเทศ ช่วยขบคิดและหาคำตอบ 3 เรื่องที่สำคัญ  คือ 1) ขอทราบข้อคิดเห็นในการพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) ให้เกิดขึ้นต่อตนเองได้อย่างไร 2) แนวคิดในการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป ก้าวหน้า พัฒนา อย่างยั่งยืน กับบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบปัจจุบัน 3) ปัญหาและอุปสรรคการทำงานตามข้อ 2 มีอย่างไร จะแก้ไขได้อย่างไร และข้อเสนอแนะการดำเนินงานของ กศน.

ซึ่งทุกคำตอบดังกล่าว ตนและทีมงานได้นำมาประเมินและวิเคราะห์ เพื่อให้การบ้านดังกล่าวที่ฝากไปช่วยกันขบคิดนั้น เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีต่อไปด้วย

● สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นภายใน ภายนอกหน่วยงาน และประชาชน

การสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลและ ศธ.เน้นย้ำมาโดยตลอดเช่นกัน เพื่อต้องการให้การสื่อสารการทำงานของ ศธ. ขยายผลไปยังบุคลากรทั้งภายในหน่วยงาน ภายนอกหน่วยงาน จนถึงการสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นต่อประชาชนให้มากที่สุด

● หลังวางแผนภาคในวงรอบที่ 1 นี้แล้ว เตรียมทบทวนไปสู่วงรอบที่ 2 ต้นปีหน้า

ทั้งนี้ หลังจากการทำงานวงรอบที่ 1 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 ทุกภาคเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะมีการวางแผนการทำงานในวงรอบที่ 2 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2561 เพื่อทบทวนการทำงานและการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ที่ผ่านมาว่ามีความสำเร็จมากน้อยเพียงใด หรือหากในห้วงเวลานั้นมีอะไรเพิ่มเติมที่จะส่งผลให้เกิดเป็นแผนที่สมบูรณ์มากที่สุด ก็จะได้นำมาปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อนำไปปรับใช้ได้กับแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด และทุกหน่วยงานสามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาก่อนที่จะเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2561 อีกด้วย


อนึ่ง ในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานเปิดการประชุมเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2560 โดยมีผู้บริหารองค์กรหลัก ศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมกว่า 300 คน ซึ่งได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ศธ.ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นการดำเนินงานของ ศธ. จึงเน้นไปที่การดำเนินงานในมิติของการพัฒนาภาคและพื้นที่เศรษฐกิจ ให้กระจายตัวอย่างทั่วถึงตามนโยบายและทิศทางประเทศ โดยได้ขับเคลื่อนการทำแผนบูรณาการจัดการศึกษาให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะพื้นที่พิเศษ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาคุณภาพการศึกษา และปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาคนด้วยการศึกษา ควบคู่ไปกับนโยบายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

ดังนั้น การจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษา จึงต้องมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีผลทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคไปสู่การปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ในระดับภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมต่อไป


อิชยา กัปปา, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
กิตติกร แซ่หมู่, อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: ถ่ายภาพ
9/11/2560
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร. และกลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.