แผนพัฒนาภาค

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อทบทวนแผนพัฒนาภาค (พ.ศ.2563-2565) และจัดทำแผนปฏิบัติการภาค พ.ศ.2563 ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ โดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาระดับภาคของกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังสรุปผลการประชุม และเป็นประธานปิดการประชุม

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ศธ.ได้เริ่มต้นการขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาค (พ.ศ.2563-2565) และแผนปฏิบัติราชการ พ.ศ.2563 เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ซึ่งจากการรับฟังผลการประชุมครั้งนี้ เห็นว่าการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคทั้ง 6 ภาค มีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา มีการกำหนดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ เกิดประโยชน์กับ “ประชาชน” ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในทุกด้าน

ทั้งนี้ ได้ฝากเน้นย้ำให้ที่ประชุมสร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมทั่วถึง ทั้งภาพกว้างและภาพลึก และหากแม้ว่าการทำงานใด ๆ จะมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ขอให้ร่วมมือร่วมใจแก้ไขปัญหาให้ผ่านไป ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นได้และส่งผลถึงความก้าวหน้าได้ในที่สุด อีกทั้งฝากให้พิจารณาความเชื่อมโยงในการทำงานให้ครบทุกภาคส่วน เช่น “การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” นำร่องใน 6 จังหวัด 6 ภาค คือ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ระยอง สตูล และปัตตานี ก็จำเป็นต้องปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนนี้ด้วย หรือการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา” ที่ดำเนินงานภายใต้รูปแบบการบริหารงาน “1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภูมิภาค 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัด” ก็ต้องร่วมกันพยายามทำงานเชิงบูรณาการให้เป็นหนึ่งเดียวให้ได้ เพื่อให้เป็นเอกภาพในการทำงานของ ศธ.

สำหรับการสร้างความเข้มแข็งการทำงานระดับภาคให้เกิดขึ้นได้ จำเป็นจะต้องคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถขับเคลื่อน เชื่อมโยง ประสานงานในระดับภาค โดยร่วมกับทุกองค์กรหลักและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมีส่วนร่วมในการวางแผนและขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่นโยบายประเทศไทย 4.0 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งก็จำเป็นต้องไม่ลืมสิ่งที่เป็น 1.0-3.0 ด้วย โดยร่วมขับเคลื่อนงานให้เกิดผลสำเร็จภายใต้หลักคิด 3 ด้าน คือ 1) ความเชื่อมโยง (Linkage) ในการทำงานซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือการทำงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวง 2) บูรณาการ (Integrate) จะช่วยให้ผลสำเร็จของการทำงานมีคุณภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ด้วยการทำงานร่วมกัน มากกว่าต่างคนต่างทำ 3) การมีส่วนร่วม (Participate) ของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า เร็ว ๆ นี้จะลงพื้นที่ระดับภาคทั้ง 6 ภาค เพื่อติดตามขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ คือ ติดตามความก้าวหน้าของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง, การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทั้ง 6 ภาค ซึ่งได้เริ่มต้นในพื้นที่ภาคใต้ “EDU Digital 2018″ เมื่อวันที่ 29-30 พ.ย.2561 และการลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 9/2561 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จังหวัดอุดรธานี เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู) ซึ่งจะมีโอกาสพบปะกับผู้ทำงานในระดับภาคต่อไปด้วย

การติดตามขับเคลื่อนงานทั้งหมดนี้ สามารถสรุปเป็นหลักคิดส่วนตัวคือ “ติดตามความก้าวหน้า การศึกษาที่เข้มแข็ง เสริมแรงผลสัมฤทธิ์ ผลผลิตเป็นรูปธรรม เกิดความยั่งยืน” เพื่อส่งผลให้การวางแผนและการบูรณาการศึกษาในแต่ละภาค เชื่อมโยงระหว่างกัน อันจะส่งผลให้เกิดคุณค่าอย่างมีคุณภาพ เพราะการศึกษาถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน และเมื่อผลสัมฤทธิ์การศึกษาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็เชื่อมั่นว่าย่อมส่งผลให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อไป

 

การนำเสนอผลการทบทวน
แผนพัฒนาภาค พ.ศ.2563-2565
(แผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค 6 ภาค ของ ศธ.)
และแผนปฏิบัติการภาค พ.ศ.2563
(Project Brief)

 
 

ภาคตะวันออก:  นายธวัชชัย อุ่ยพานิช รองศึกษาธิการภาค 9 กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนบูรณาการฯ ภาคตะวันออก ได้ร่วมกันทบทวนการจัดทำแผนในระดับต่าง ๆ โดยนำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนการศึกษาแห่งชาติ ปี 2560-2579 มาเป็นแนวทางการทบทวนแผนปฏิบัติงาน

โดยมียุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออก 5 ด้าน คือ 1) พัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 2) พัฒนาภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล 3) ปรับปรุงมาตรฐานสินค้าและธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว 4) พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และ 5) เร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่มีความวิกฤติและจัดระบบการบริหารจัดการมลพิษให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมีแผนงานและโครงการที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 82 ชุดโครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Product Development for Health Tourism), โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลนานาชาติในจังหวัดชลบุรี-ระยอง เป็นต้น

ภาคเหนือ:  นายสุรินทร์ แก้วมณี รองศึกษาธิการภาค 15 กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนบูรณาการฯ ภาคเหนือ ได้ทำการศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และให้ความสำคัญกับบริบทของจังหวัดในภาคเหนือที่มีความเป็นอัตลักษณ์ในทุก ๆ ด้าน โดยมีทิศทางในการพัฒนาภาคเหนือให้เป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” มุ่งเน้นให้มีรายได้ด้านการท่องเที่ยว มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น สัดส่วนผู้สูงอายุที่เข้าถึงระบบสวัสดิการเพิ่มขึ้น จำนวนวันที่มีค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลง เป็นต้น ซึ่งมีแผนงานและโครงการที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 70 โครงการ โดยมีโครงการตัวอย่าง เช่น โครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวสำหรับผู้สูงอายุโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นต้น

ภาคใต้ชายแดน: นายวาทิต มีสนุ่น ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) กล่าวว่า จังหวัดภาคใต้ชายแดนมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้ชายแดน) โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” พร้อมทั้งพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 “การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้ผู้เรียน 4 ด้าน คือ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม มีงานทำ-มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี” มาปรับใช้กับแผนการปฏิบัติงานให้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนา 3 ด้าน คือ พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับภาคการผลิต, พัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และเมืองเบตง ให้เป็นเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งมีแผนงานและโครงการที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 72 โครงการ มีโครงการตัวอย่าง เช่น โครงการสร้างองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับภาคการผลิต (ภาคใต้ชายแดน) เป็นต้น

ภาคกลางและพื้นที่กรุงเทพมหานคร:  นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองศึกษาธิการภาค 1 กล่าวว่า ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร มีทิศทางในการพัฒนากรุงเทพมหานครสู่มหานครทันสมัย และภาคกลางเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง โดยดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ 1) พัฒนากรุงเทพฯ เป็นมหานครทันสมัยระดับโลก ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง 2) พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ และสร้างความเชื่อมโยงเพื่อกระจายการท่องเที่ยวทั่วทั้งภาค 3) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 4) บริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และคงความสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน 5) เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย-ภาคกลาง-ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และ 6) พัฒนาความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมกับทุกภาคเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ โดยมีข้อเสนอแผนงานโครงการแผนปฏิบัติการภาค พ.ศ. 2563 ภายใต้แผนบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาคในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 260 โครงการ ตัวอย่างโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการพัฒนานครปฐมเป็นเมืองสมุนไพรต้นแบบ: สร้างสรรค์สมุนไพรทางยาและวัตถุดิบแบบครบวงจรศูนย์บริการด้านสุขภาพ การศึกษาและเศรษฐกิจในยุคใหม่ เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:  นายธีรพงษ์ สารแสน รองศึกษาธิการภาค 10 กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีทิศทางในการพัฒนาภาคให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง มียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน 2) แก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 3) สร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจภายใน ควบคู่กับการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4) พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ 5) ใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลาง และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ ของภาค 6) พัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ตามแนวชายแดนและแนวระเบียงเศรษฐกิจ โดยมีข้อเสนอแผนงานโครงการแผนปฏิบัติการภาค พ.ศ. 2563 จำนวน 327 โครงการ โครงการสำคัญ เช่น โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มความรู้ สมรรถนะ ทักษะ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต แบบบูรณาการของนักเรียนนักศึกษาในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เป็นต้น

ภาคใต้:  นายประหยัด อนุศิลป์ รองศึกษาธิการภาค 6 กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาภาคใต้
มีเป้าหมายให้ภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศและเมืองเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก โดยนำหลักคิด “คิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ ห่วงการรับรู้ สู่การบูรณาการ สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” มาปรับใช้กับแผนการดำเนินงาน โดยมีแผนงานโครงการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาค (ภาคใต้) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 203 โครงการ โครงการสำคัญ อาทิ การสร้างโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตนวัตกรรมยางพารา และ ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เป็นต้น

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
จากผู้บริหารส่วนกลาง ศธ.

นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน “ทิศทางการพัฒนาของทั้ง 6 ภาค มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติอย่างชัดเจน จึงขอเสนอแนะเพิ่มเติมให้แต่ละภาคเน้นการบูรณาการ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุน รวมทั้งคำนึงถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างครอบคลุม”

นางสาวอุษณีย์ ธโนศวรรย์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา “การนำเสนอของทุกภาคมีสาระสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายชัดเจนและมีทิศทางที่โดดเด่น ขอให้แต่ละภาคพิจารณายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้อที่ 6 การบริหารจัดการในภาครัฐ เนื่องจากจะสอดคล้องกับระบบการบริหารจัดการของแต่ละโครงการ และเป็นประโยชน์ในการตอบโจทย์ทุกมิติ หากสามารถบริหารจัดการที่มีการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ด้วยการสื่อสาร ถ่ายทอด ให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับโครงการมากที่สุด รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดลำดับความสำคัญของโครงการว่าควรดำเนินโครงการใดก่อน”

นางสาววิเลขา ลีสุวรรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย “การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ทราบสภาพปัญหาและความต้องการของพื้นที่ในแต่ละภาค ขั้นต่อไปคือการส่งเสริมการสร้างการรับรู้ในทุกระดับ โดยเน้นที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันอย่างแท้จริง”

นายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน “บริบทของแต่ละภาคมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน ขณะนี้เรากำลังศึกษาอดีต มองปัจจุบัน และก้าวสู่การเตรียมการอนาคต ขอให้ทุกภาคช่วยกันพิจารณาว่า เมื่อได้ยุทธศาสตร์แล้วจะสามารถเติมองค์ความรู้ให้คนในภาคได้อย่างไร เพื่อให้คนเหล่านั้นมีอาชีพแบบที่เราวางแผนไว้ เพื่อให้สอดรับกับบริบท ต่อยอดสู่การมีงานทำ และความเชื่อมโยงในระดับภาค”

นางอรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา “กระทรวงศึกษาธิการมีภารกิจหลักในการสร้างคน โดยสิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการและวางแผนคือการเตรียมสร้างคนในโลกยุคใหม่ เพราะรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป จึงควรเชิญชวนภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ปกครองและผู้ใช้บัณฑิต ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการศึกษาให้มากขึ้น”

นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา “สิ่งที่ควรดำเนินการคือการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนดังกล่าว อีกทั้งภารกิจในแผนอาจต้องเชื่อมโยงกับภารกิจของกระทรวงอื่น ๆ จึงต้องเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก โดยให้ยึดเป้าหมายหลักของกระทรวงศึกษาธิการ คือ การสร้างคน ซึ่งต้องตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้”

นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  “แนวทางดำเนินงานการเสนอแผนงานโครงการ ภายใต้แผนพัฒนาภาค 2563-2565 และแผนปฏิบัติการภาค 2563 ของ ศธ. ได้กำหนด Timeline ดำเนินการไว้แล้ว หลังจากการประชุมครั้งนี้ ทุกหน่วยงานจะต้องส่งข้อเสนอแผนงานโครงการแต่ละภาคให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ภายในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ เพื่อเสนอรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบก่อนเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาภายในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ซึ่ง สศช.จะพิจารณาข้อเสนอฯ ของทุกกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 มีนาคม 2562 เพื่อให้ส่วนราชการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ต่อไป”

 

บรรยากาศการประชุมวันที่ 30 พ.ย.61


Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit
อิทธิพล รุ่งก่อน, อานนท์ วิชานนท์, ปกรณ์ เรืองยิ่ง (VDO)
Rewriter/Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร