แผนยุทธศาสตร์การศึกษานราธิวาส 20 ปี

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประชุมสัมมนาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ระดับจังหวัด ครั้งที่ 3 (จังหวัดนราธิวาส) ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมอิมพีเรียล นราธิวาส โดยนายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม และ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดการประชุมและรับฟังผลการประชุมสัมมนา

23 พฤษภาคม 2560: นายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า “นราธิวาส” เป็นจังหวัดที่สำคัญในประเทศไทย เนื่องจากมีพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ตั้งอยู่ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาจังหวัดนราธิวาสหลายด้าน อาทิ ด้านการสื่อสาร การใช้ภาษา ดิน น้ำ ป่าไม้ พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงทุกศาสนาให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่แตกแยก และได้มียุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน

สำหรับการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนทุกระดับ ทั้งกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 และแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญในการเตรียมเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกระบวนการสร้างคนด้วยการให้การศึกษาและการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ อันก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง

นอกจากนี้ นายอดินันท์ ได้ฝากประเด็นการต่อยอดของภาษาต่างประเทศ และให้ช่วยกันแก้ปัญหาในเรื่องของการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้ความสามารถ ทัดเทียมกับเด็กในภูมิภาคอื่นมากขึ้น


24 พฤษภาคม 2560: พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในพิธีปิด โดยได้ฝากแนวคิดการทำงานว่า “เราจะทำ นำเพียรคิด จิตฝักใฝ่ หมั่นไตร่ตรอง After Action Review (AAR) สร้างการรับรู้ ได้ความร่วมมือ ถือหลักบูรณาการ”

ทั้งนี้ การที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตามที่ได้วางแผนยุทธศาสตร์การศึกษาไว้นั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผ่านการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การรับรู้ การยอมรับ การตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่ดี และความพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ซึ่งรัฐบาลและศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือ “กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) : Forward Section, Ministry of Education” ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนไว้อย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการได้รับการจัดสรรงบประมาณตามกรอบทิศทางเป้าหมายการพัฒนา เพื่อพัฒนาการศึกษาให้บรรลุผลตามตัวชี้วัดในช่วงเวลาที่ได้กำหนดไว้

นอกจากนี้ ขอให้เน้นระบบการติดตามที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการประเมินผลที่เหมาะสมเป็นระยะ ๆ โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อให้ประชาสังคมได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่

อีกเรื่องหนึ่งซึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้เน้นย้ำถึงแนวทางการทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยคำนึงถึง “ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factor : KSF)” คือ ความยึดมั่นผูกพันอย่างจริงจังจากผู้บริหารทุกระดับ การให้การศึกษาและฝึกอบรมให้ทุกคนในหน่วยงานได้เกิดการเรียนรู้ มีโครงสร้างขององค์กรที่สนับสนุนวิธีคิดและวิธีทำงานอย่างเป็นกระบวนการ จัดระบบการติดต่อสื่อสารให้ทั่วถึงทั้งแนวดิ่งตามสายงานและแนวราบของการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งการให้รางวัลและการยอมรับทีมงานที่สมควรได้รับจากผลงานที่ปรากฏ อีกทั้งมีการวัดและประเมินผลงานอย่างเหมาะสม และเน้นการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ เหล่านี้นับเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จของงาน KSF อย่างแท้จริง

สำหรับการประชุมสัมมนาครั้งนี้ มีผู้บริหารและข้าราชการจากส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนากว่า 120 คน อาทิ นายธรรมรงค์ คงวัดใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายชลำ อรรถธรรม ผู้อำนวยการสำนักติดตามประเมินผล สพฐ., นายประหยัด สุขขี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส ฯลฯ โดย ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ พ.อ.ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นวิทยากรและบรรยายพิเศษตลอดการประชุมสัมมนา


อิทธิพล รุ่งก่อน, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
24/5/2560