โครงการทำมาค้าขาย

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้ “โครงการทำมาค้าขาย” ของโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐ และโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ตลอดจนผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูและนักเรียน เข้าร่วมกว่า 300 คน เมื่อวันพุธที่ 13 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท จังหวัดสงขลา

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ด้วยการสนับสนุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญต่อการนำการศึกษาเรียนรู้ไปช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจากพลังความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนถึงภาควิชาการ ช่วยขับเคลื่อนประเทศด้วยการศึกษา ซึ่ง “การศึกษา” เปรียบเสมือนต้นทางของการพัฒนาคน ให้มีทักษะ มีความรู้ อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า สร้างความเป็นอยู่ที่ดีและความเจริญให้กับครอบครัวและชุมชน

ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการตั้งมั่นในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชน ตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” รวมทั้งพระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ซึ่งทรงพระราชทานเกี่ยวกับการศึกษาที่ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต 4) เป็นพลเมืองดี นำมาเป็นหลักคิดในการดำเนินงาน จนเกิดเป็นความสำเร็จในการสร้างโอกาสด้านการศึกษา ที่ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ในหลายโครงการ อาทิ การกำหนดการบริหารงานในระดับภาค, พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและนราธิวาส, โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น

โครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ถือเป็นการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม อย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้การสนับสนุนของภาคเอกชนตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา จึงนำมาสรุปเป็นแนวทางดำเนินงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างรอบด้าน ไม่เฉพาะการทำให้เด็กมีความรู้ เป็นคนดีและคนเก่งเท่านั้น แต่ยังเน้นให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่ดี จบแล้วมีอาชีพมีงานทำ และเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนและสังคม สอดคล้องตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติข้อที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ เพื่อให้คนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา

ขอขอบคุณบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนยกระดับเศรษฐกิจในระดับชุมชนอย่างดียิ่งเสมอมา

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมโครงการสรุปแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต ภายใต้โครงการทำมาค้าขาย ของโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐและโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2562 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาการเรียนการสอนและทักษะชีวิต กรณีศึกษาของโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่จะเป็นการพัฒนาต่อยอดกระบวนการและทักษะอาชีพสู่การมีงานทำ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 350 คน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ผู้บริหารภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน ผู้อำนวยการโรงเรียนโครงการสานพลังประชารัฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 35 โรงเรียน ครู และนักเรียน

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับรัฐบาลในโครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งเน้นหลักการทำงานเชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยได้ร่วมเป็นคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) เพื่อพัฒนาด้านการเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประสานเชื่อมโยงกับคณะทำงานการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) เพื่อให้การศึกษาเรียนรู้พร้อมทักษะอาชีพแก่เด็กเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ

ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นในการทำงานในโครงการต่าง ๆ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ประกอบด้วย 3 ห่วง (ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี) และ 2 เงื่อนไข (คุณธรรม ความรู้) รวมทั้งพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด นำมาเป็นหลักในการทำงานพัฒนาคุณภาพคนและยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนทั่วประเทศ

ขับเคลื่อนโดยความร่วมมืออย่างบูรณาการของ “บวร” ได้แก่ บริษัท วิสาหกิจชุมชน รัฐ โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ นำกลไกพี่ช่วยน้องมาช่วยสนับสนุน พร้อม ๆ กับเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในโครงการกว่า 300 โครงการ ร่วมกับโรงเรียน 293 แห่ง และมหาวิทยาลัย 27 แห่งใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเน้นสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีวินัยทางการเงิน ความเข้าใจตลาด และมีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งด้านการทำมาค้าขาย การทำบัญชีครัวเรือน ตลอดจนแผนพัฒนาโรงเรียน นำไปสู่การทำแผนชุมชน เพื่อช่วยยกระดับการศึกษาและรายได้ของคนในชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ขอฝากถึงเด็ก ๆ ทุกคน ให้ตั้งใจศึกษาเรียนรู้และนำทักษะที่เรียนในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงอย่างยั่งยืน รวมทั้งพยายามศึกษาแนวโน้มการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ จำนวน 17 ข้อ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศทั้งในวันนี้และในอนาคต อาทิ รับรองแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน, สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต, สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากล ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดหวังจะเห็นเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เติบโตเป็นกำลังสำคัญที่มีทักษะและพึ่งพาตนเองได้ มีสัมมนาชีพที่สามารถตอบแทนครอบครัว ชุมชน และอยู่ในสังคมที่มีความอบอุ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ที่สำคัญคือต้องการเห็นทายาทของผู้ประกอบการในท้องถิ่นและชุมชนต่าง ๆ กลับบ้านเกิดเพื่อสืบสานกิจการ พร้อมนำอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจมาสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มและต่อยอดการพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์และยกระดับเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการและผลงานนักเรียนจากการประกวด OTOP Junior ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีความน่าสนใจและโดดเด่นสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ อาทิ การแปรรูปปลาดุกร้าไร้สารพิษ โรงเรียนบ้านปูโป๊ะ จ.นราธิวาส, การเพ้นท์กระเป๋ากระจูด เบเกอรี่และเครื่องดื่มจากสับปะรด โรงเรียนวัดเทพนิมิตร จ.ภูเก็ต, เครื่องแกงเผ็ด โรงเรียนบ้านตลาดลำใหม่ จ.ยะลา, ลูกตาลลอยแก้ว โรงเรียนสามบ่อวิทยา จ.สงขลา, ลูกปัดศรีวิชัย โรงเรียนวัดเขาศรีวิชัย จ.สุราษฎร์ธานี, ข้าวสังข์หยด โรงเรียนวัดทุ่งแย้ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

 

Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร