โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, พล.อ.ธนรัชฏ์ หิรัญบูรณะ ประธานคณะทำงานที่ปรึกษา รมช.ศธ., รศ.บัณฑิต ทิพากร คณะทำงานที่ปรึกษา รมช.ศธ. และประธานอนุกรรมการบริหารโครงการฯ ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนใน “โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษา” หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีแมคคาทรอนิกส์ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เมื่อวันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2561 โดยมี ศ.ดร.วิไล รังสาดทอง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจพ. ผู้บริหาร และอาจารย์ เข้าร่วมประชุม พร้อมนำชมการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษา ที่ บริษัทแอมคอร์ เฟล็กซิเบิ้ล กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีนายโสฬส ยอดมงคล กรรมการผู้จัดการ และพนักงาน ให้การต้อนรับ

ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กีรติวินทกร สถาบันสหกิจศึกษา และพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไทย-เยอรมัน มจพ. กล่าวรายงานการดำเนินงานว่า เนื่องจากในปัจจุบันประเทศมีความต้องการกำลังคนระดับช่างเทคนิคและนักเทคโนโลยีจำนวนมาก เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ตามโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษา สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่ง มจพ.เห็นถึงความสำคัญและมีความพร้อมที่จะผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ พร้อมต้องการจะยกระดับการศึกษาสายอาชีพของไทยให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

จึงได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2560 เพื่อผลิตกำลังคนด้านเทคนิคและนักเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระดับอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีแมคคาทรอนิกส์ ด้วยหลักสูตรบูรณาการการจัดการเรียนรู้กับการทำงาน (Work Integrated Learning: WiL) ร่วมกับบริษัทแอมคอร์ เฟล็กซิเบิ้ล กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับกระบวนการทางอุตสาหกรรม พร้อมส่งเสริมความเชื่อมโยงและประสานงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษามากขึ้น ทำให้เกิดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนสามารถนำผลลัพธ์สู่การวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และผลิตผลที่เกิดจากการปฏิบัติจริง ทำงานจริง ในสถานที่จริง ที่จะเป็นข้อมูลและข้อเสนอแนะการปรับปรุงการจัดการศึกษาในรุ่นต่อ ๆ ไป

คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ต้องการจะย้ำถึงความสำคัญของโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษา ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพการผลิตกำลังคน ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ของบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้บัณฑิตจริง ๆ ให้มีความรู้ทักษะสมรรถนะพร้อมที่จะไปทำงานได้จริงหลังจบการศึกษา ซึ่งแน่นอนว่า การปรับหลักสูตรและการเรียนการสอนเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการมากขึ้น ดังเช่นการบูรณาการการจัดการเรียนรู้กับการทำงาน หรือ WiL ระหว่าง มจพ. กับบริษัทแอมคอร์ เฟล็กซิเบิ้ล กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีแมคคาทรอนิกส์ (ต่อเนื่อง) ทำให้ผู้เรียนได้มาเรียนในสถานประกอบการจริง ที่จะเกิดการบ่มเพาะในบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากการเรียนในห้องเรียนหรือในมหาวิทยาลัย โดยครูจากมหาวิทยาลัยและครูในโรงงานของบริษัท จะได้ร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา สิ่งสำคัญคือจะเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาได้เห็นปัญหาจากการทำงาน (Learning by doing) เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ผสานกับความคิดสร้างสรรค์ ในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาตามกระบวนการและขั้นตอนของโรงงานจริง ๆ ซึ่งเชื่อแน่ว่าในอนาคต การเรียนรู้ปัญหาจากการทำงานจริงจะนำไปสู่การศึกษาวิจัยย่อย ๆ เพื่อตอบโจทย์การทำงานในแต่ละส่วน และพัฒนาไปสู่ความคิดสร้างสรรค์องค์ความรู้และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่จะเป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อการทำงานในสาขาวิชานี้ ต่อไป

ดังนั้น ภาคเอกชนจึงมีความสำคัญและมีผลต่อความสำเร็จของโครงการเป็นอย่างมาก ส่วนครูเองเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยให้กระบวนการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง (Learning by doing) ทั้งครูในมหาวิทยาลัยและครูในโรงงาน ที่จะช่วยออกแบบหลักสูตร ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ต่าง ๆ ที่หน้างาน เรียนรู้การทำงานด้วยการสื่อสารแบบสองทาง ที่จะส่งผลต่อการหล่อหลอมและสร้างทักษะสมรรถนะผู้เรียนตามที่คาดหวัง ให้สามารถพัฒนาตนเอง สร้างนวัตกรรมและสร้างการเปลี่ยนแปลงในการทำงานหรือสถานที่ที่ไปอยู่ ตลอดจนต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานความรู้ในอนาคต และต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยาก และเป็นโอกาสของเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลิตกำลังคนเพื่อไปสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม มีการสร้างมูลค่าเพิ่มของนวัตกรรม สินค้า และบริการในรูปแบบใหม่ ๆ ทำให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้และมีรายได้เพิ่มขึ้น หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางอย่างแท้จริง

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า จากการเยี่ยมชมการฝึกประสบการณ์ภายในสายการผลิตแมคคาทรอนิกส์ ของบริษัทแอมคอร์ เฟล็กซิเบิ้ล กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมพูดคุยกับนักศึกษาในโครงการ แสดงให้เห็นว่ามีการฝึกปฏิบัติและเรียนรู้ตามปรัชญาของ WiL อย่างแท้จริง เพราะเด็กได้ทำงานในสายการผลิตจริงเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่ง โดยมีครูช่างในโรงงานเป็นพี่เลี้ยงแนะนำดูแลตลอดเวลา พร้อมมีการสื่อสารเรียนรู้ ถกเถียง และแสดงความคิดเห็นที่หน้างานจริง ๆ นี่คือส่วนสำคัญของการเรียนรู้จากการทำงาน ที่จะช่วยสร้างและกระตุ้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ การตั้งคำถาม และนำสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งจุดนี้เองยังมีส่วนช่วยให้เกิดการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาคปฏิบัติในระบบอุตสาหกรรม และภาคการศึกษาเชิงวิชาการและองค์ความรู้ต่าง ๆ

จึงขอชื่อชมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่ดำเนินโครงการมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนและเกิดผลดีต่อระบบการยกระดับการผลิตกำลังคน พร้อมตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาโดยการเรียนรู้จากการทำงานจริงและสามารถสร้างนวัตกรรม ตลอดจนองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายโสฬส ยอดมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอมคอร์ เฟล็กซิเบิ้ล กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวต้อนรับและนำเยี่ยมชมสถานประกอบการ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีที่จะร่วมบูรณาการการเรียนกับการทำงาน (WiL) ในโครงการฯ และประสานการจัดทำหลักสูตรเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น ทั้งนี้ต้องการให้ภาครัฐคงความต่อเนื่องของโครงการต่อไป เพื่อยกระดับและพัฒนากำลังคนให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ

บริษัทแอมคอร์ เฟล็กซิเบิ้ล กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานกว่า 158 ปีที่แล้ว โดยริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2403 เพื่อพัฒนาการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงห่วงโซ่อุปทานจนเกิดความชำนาญหลายปี จนสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยรูปแบบรูปทรงที่น่าสนใจหลากหลาย และมีความคุ้มค่าสำหรับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน ทั้งยังเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง จนทำให้บริษัทก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในการพัฒนาและผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง และรับผิดชอบต่อความหลากหลายของอาหาร เครื่องดื่ม เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่บ้าน และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยในปัจจุบันได้ขยายการดำเนินงานและสาขากว่า 200 แห่งใน 40 ประเทศทั่วโลก มีพนักงาน 35,000 คน และมียอดขาย 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ


Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit
อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร