โรงเรียนคุณธรรม สพฐ.
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะสนทนากับผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และการนำเสนอผลการดำเนินงานของโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ระดับประเทศ และบรรยายพิเศษเรื่อง ‘ศาสตร์พระราชา และสืบสานพระราชปณิธานโรงเรียนคุณธรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุม โรงแรมเอวาน่า เขตบางนา กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ สพฐ. ได้กำหนดกรอบแนวคิดในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความพอเพียง ความกตัญญู ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และอุดมการณ์คุณธรรม พร้อมทั้งได้กำหนดเป้าหมายความสำเร็จในปีการศึกษา 2560 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 225 เขต และโรงเรียนอย่างน้อย 10,000 แห่ง เข้าร่วมโครงการ และขยายผลการดำเนินงานครอบคลุมโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทุกแห่ง ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2561
การดำเนินงานของโครงการ มุ่งเน้นการขยายผลเชิงปริมาณและการขับเคลื่อนเชิงคุณภาพอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคได้แก่ ทีมขับเคลื่อนด่วนพิเศษระดับภูมิภาค (EMS: Express Moral Service) จำนวน 50 คน ทีมเคลื่อนที่เร็วระดับเขตตรวจราชการ (RT: Roving Team) 18 ทีม จำนวน 225 คน และผู้รับผิดชอบระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขตละ 3 คน โดยมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ กำกับ นิเทศ ติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึงโดยผลการดำเนินงาน
ในระยะที่ผ่านมา มีการขยายผลการอบรมครูวิทยากรในโรงเรียนสังกัดต่าง ๆ ได้แก่ครูวิทยากร จำนวน 135,529 คน จากโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 19,082 แห่ง ครูวิทยากร จำนวน 208 คน จากโรงเรียนสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 208 แห่ง และครูวิทยากร จำนวน 174 คนจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 58 แห่ง ภายหลังจากการขยายผลการดำเนินงานดังกล่าว ผู้รับผิดชอบในระดับเขตตรวจราชการ (RT: Roving Team) จำนวน 18 ทีม ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ระหว่างศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียนครู และนักเรียน ในระดับเขตตรวจราชการ และพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่มีกระบวนการในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมที่เป็นเลิศ จำนวน 3 โรงเรียน จากแต่ละเขตตรวจราชการ รวมจำนวนทั้งสิ้น 57 โรงเรียน เพื่อเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลการดำเนินของโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยกำหนดให้แต่ละโรงเรียนส่งผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน ครูจำนวน 1 คน และนักเรียนผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับโครงงานคุณธรรม จำนวน 3 คน รวมโรงเรียนละ 5 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมจำนวนผู้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ทั้งสิ้น 285 คน
ผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลงานของโรงเรียน ที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลการดำเนินงานของโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประจำปีงบประมาณ 2560 สามารถสรุปได้ดังนี้
โรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 57 แห่งได้จัดทำโครงงานคุณธรรมภายในโรงเรียน จำนวนทั้งสิ้น 857 โครงงาน
เมื่อจำแนกตามคุณธรรมอัตลักษณ์ และกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. พบว่าเป็นโครงงานที่มุ่งพัฒนาคุณธรรมด้านวินัยมากที่สุด จำนวน 331 โครงงาน (คิดเป็นร้อยละ 28.2) รองลงมาคือ ความรับผิดชอบ จำนวน 292 โครงงาน (คิดเป็นร้อยละ 25.9)พอเพียง จำนวน 216 โครงงาน (คิดเป็นร้อยละ 18.4) จิตสาธารณะ จำนวน 176 โครงงาน (คิดเป็นร้อยละ 15) ซื่อสัตย์ สุจริต จำนวน 98 โครงงาน (คิดเป็นร้อยละ 8.3) กตัญญู จำนวน 25 โครงงาน (คิดเป็นร้อยละ 2.1) สุภาพอ่อนน้อม จำนวน 23 โครงงาน (คิดเป็นร้อยละ 2) และอุดมการณ์คุณธรรม จำนวน 14 โครงงาน (คิดเป็นร้อยละ 1.2)
ผลการดำเนินงานของผู้บริหาร ครู และนักเรียนโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. พบว่า มีโรงเรียนที่มีความเหมาะสมเป็นโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. “ระดับยอดเยี่ยม” จำนวน 27 แห่ง และโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. “ระดับดีเด่น” จำนวน 30 แห่ง
ได้ดำเนินการพัฒนาครู และนักเรียนในโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ให้มีความรู้ ความสามารถในการผลิตสื่อภาพยนตร์สั้น ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับคุณธรรมอัตลักษณ์ที่โรงเรียนกำหนดขึ้น หรือสอดคล้องกับกรอบแนวคิดคุณธรรม 5 ประการของโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ซึ่งมีผลงานภาพยนตร์สั้นที่เข้าร่วมการพิจารณาจำนวน 225 เรื่อง จากแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผ่านการพิจารณาเข้ารอบจำนวน 45 เรื่อง เพื่อเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการผลิตภาพยนตร์สั้นขั้นสูง จากนั้นคณะกรรมการได้พิจารณาผลงานภาพยนตร์สั้นเพื่อรับรางวัลในระดับประเทศจำนวนทั้งสิ้น 12 เรื่อง แบ่งออกเป็นระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับละ 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลขวัญใจมหาชนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง และรางวัลชนะเลิศ โดยผลงานภาพยนตร์สั้นที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ในช่องทางที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริม และพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักเรียน และเยาวชนของชาติต่อไป
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
ข้อมูล: สพฐ.
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ