อำเภอบังนังสตา
ทั้งนี้ ตลอดการทำงานที่ผ่านมา รัฐบาลมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะพัฒนาและปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อทำให้ประชาชนมีความสุข ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ตลอดจนมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งในเรื่องของการศึกษาด้วย ซึ่งกำหนดเป็นหนึ่งใน 6 ด้านของการปฏิรูปประเทศ
อีกทั้งการทำงานด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เพื่อสร้างความสุขกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา หลักการทำงาน ตลอดจนพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานไว้กับประชาชนคนไทย และพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้านการศึกษาที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง, มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม, มีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี จึงขอฝากให้ทุกคนน้อมนำไปปรับใช้ในการดำเนินการชีวิต การเรียน และการทำงาน ทั้งในการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมด้วย
สำหรับการดำเนินนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม สืบเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาพบปะเยี่ยมเยือนความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลและพัฒนาการศึกษาในพื้นที่นี้ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้มอบหมายให้ สพฐ. ดำเนินการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
โดยหนึ่งในงานด้านการสร้างโอกาส ก็คือการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มาจากครอบครัวขาดแคลนและมีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงการศึกษาเรียนรู้มากขึ้น ตามโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสำรวจและรวบรวมหลักฐาน จากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีรายได้น้อย) ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่ ตลอดจนเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาส โดยความร่วมมือของผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น ผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 คน จากนั้นได้มีการพิจารณากลั่นกรองตามหลักเกณฑ์อย่างยุติธรรม จนสามารถคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมโครงการ และเริ่มเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 แก่นักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวน 4,239 คนใน 64 โรงเรียนของ 37 อำเภอ ุพร้อมทั้งขยายโครงการสู่สถานศึกษาอาชีวศึกษาประชารัฐในระดับจังหวัดอีก 4 แห่ง เพื่อรองรับเด็กจำนวนที่เหลือในสายวิชาชีพ
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ศธ.มีผลการดำเนินงานด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นการเรียนที่มีส่วนเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในพื้นที่, เรียนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ทักษะ และฝีมือแรงงาน เมื่อจบแล้วมีอาชีพ มีรายได้ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและครอบครัว, การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ด้วยการเรียนในระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนอกระบบการศึกษาของสำนักงาน กศน. รวมถึงการนำประชากร 3 ขวบถึง 18 ปี กลับเข้าสู่ระบบการศึกษากว่า 30,000 คน และจะรณรงค์เชิญชวนประชากรที่เหลือเข้ามาเรียนในปีการศึกษาต่อไป เพราะเชื่อว่า “ไม่มีคำว่าสาย และไม่มีใครแก่เกินเรียน” ทุกคนสามารถต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการทำงาน ที่จะส่งผลต่อการพัฒนารายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัว ตลอดจนพื้นที่ในอนาคต
ส่วนการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางการศึกษา ได้ดำเนินการโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้โอกาสกับเด็กที่มีความสามารถด้านกีฬา ให้เข้ารับการศึกษาพร้อมพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศด้านกีฬาฟุตบอล วอลเลย์บอล และบาสเก็ตบอล ภายใต้การดูแลของครูฝ่ายวิชาการ และโค้ชผู้ฝึกสอนกีฬา พร้อมรับทุนการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นตามความต้องการ จึงขอความร่วมมือจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ช่วยกันดูแล รักษา และอนุรักษ์ สิ่งดี ๆ ทั้งด้านการเกษตร การค้าชายแดน แหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้อยู่คู่พื้นที่ เพื่อสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีความพร้อมที่จะเป็นหน่วยบูรณาการการทำงานในพื้นที่ พร้อมสร้างระบบบริหารจัดการการศึกษาอย่างเป็นระบบ มีแผนงาน และเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาได้สำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อผลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งพบว่ามีผลความพึงพอใจสูงขึ้น จากปี 2560 คะแนนร้อยละ 85 หรือพึงพอใจระดับปานกลางถึงมาก เพิ่มขึ้นในปี 2561 เป็นร้อยละ 91 คือพึงพอใจระดับมาก ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของพี่น้องประชาชนและทุก ๆ ฝ่ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ดังนั้น การจัดงานเปิดโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. จังหวัดยะลาในครั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอบันนังสตา เกี่ยวกับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กขาดแคลนและด้อยโอกาส และกระทรวงศึกษาธิการยินดีรับข้อเสนอแนะจากผู้ปกครอง ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาโครงการเชิงสร้างสรรค์ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งเด็กและเยาวชน ครู สถานศึกษา ตลอดจนภาพรวมของการพัฒนาในพื้นที่ด้วย
ท้ายสุดนี้ ขอยืนยันอีกครั้งถึงความสำคัญของการศึกษา ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของพื้นที่ในทุกมิติ และสอดคล้องแผนงานโครงการของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน, การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ, โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป็นต้น
การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นส่วนสำคัญของการสร้างโอกาสทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ขอขอบคุณทุกคนที่ได้ร่วมมือและทำงานอย่างเต็มที่ จนเกิดความพร้อมสมบูรณ์ ตามคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ที่ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” การศึกษาก็เช่นเดียวกัน โดยไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด อยู่ในพื้นที่ใด รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการก็จะดูแลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงตลอดไป
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลที่มอบเป็นของขวัญให้ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนประจำเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อยไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หรือผู้ที่ลงทะเบียนอยู่ในบัญชีของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเป็นครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงนักเรียนที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้อุปการะ โดยนักเรียนกลุ่มดังกล่าวจะได้รับการดูแลในด้านที่พักนอน ความปลอดภัย อาหารครบ 3 มื้อ ตลอดจนอุปกรณ์ความจำเป็นพื้นฐานตามวัยเรียน ซึ่งในการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้ผ่านความเห็นชอบโครงการและงบประมาณจากคณะกรรมการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ทุกโรงเรียนมีความพร้อมที่จะรองรับนักเรียนเข้าสู่โครงการตามเป้าหมายการเปิดในปีการศึกษา 2561 นี้
กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ สพฐ.ดำเนินการโครงการโรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดให้โรงเรียนในสังกัดใน 1 อำเภอ มีโรงเรียนประถมศึกษา 1 โรงเรียน มัธยมศึกษา 1 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 37 อำเภอในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา 4 อำเภอ ซึ่งในปีการศึกษา 2561 มีโรงเรียนจำนวน 64 โรงเรียน นักเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 4,239 คน ซึ่งสามารถช่วยให้เด็กนักเรียนในชุมชนได้รับโอกาส รวมทั้งการดูแลชีวิต และมีการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน