ให้นโยบายบอร์ด สทศ.

รมช.ศธ.”ธีระเกียรติ” มอบนโยบายคณะกรรมการบริหาร สทศ.

ศึกษาธิการ – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้พบกับคณะกรรมการบริหาร สทศ. ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อที่จะมาพูดคุยและให้นโยบายในการดำเนินงาน โดยมีประเด็นหลักเกี่ยวกับนโยบายการปฏิรูประบบประเมินผลการจัดการศึกษาในทุกเรื่อง ตั้งแต่การประเมิน ครู เด็ก และสถานศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องดูแล โดยมี สทศ. เป็นหน่วยงานสำคัญในการดำเนินการประเมินผลการจัดการศึกษา เพราะหากไม่มี สทศ. จะไม่สามารถรู้ได้ว่าการจัดการเรียนการสอนประสบความสำเร็จหรือไม่ เราก็หลับหูหลับตาคิดเอาเองว่าเราทำสำเร็จ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สทศ. ได้ทำการจัดสอบวิชาหลัก และ O-NET ให้กับเด็กนักเรียน ผลปรากฏว่าคะแนนของเด็กนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ จึงได้หารือกับ สทศ. เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากการประเมินที่ยุติธรรมและตรงตามความเป็นจริงนี้ ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ให้นโยบายการออกข้อสอบอัตนัยกับ สทศ. เพราะหากจะสอนให้เด็กคิดเป็น ก็ต้องมีวิธีการประเมินว่าเด็กคิดเป็นหรือไม่ ซึ่งข้อสอบปรนัยไม่สามารถวัดได้ ดังนั้น สทศ.จะเริ่มใช้ข้อสอบอัตนัยแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังเช่นในปีการศึกษา 2559 จะมีข้อสอบอัตนัยภาษาไทยในการสอบ O-Net สำหรับเด็ก ป.6 ร้อยละ 20

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน สทศ. มีบุคลากรที่ดูแลเรื่องคุณภาพข้อสอบจริงๆ เพียง 5 คน แต่มีกระบวนการจัดสอบที่ควบคุมเรื่องความยุติธรรม และความมั่นคง (Security) ของข้อสอบ ไม่ให้เกิดการรั่วไหลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง สทศ.เก่งและมีความชำนาญในด้านนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความสามารถในการควบคุมคุณภาพข้อสอบ ยังต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาคุณภาพข้อสอบต่างๆ ให้มีคุณภาพ

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ อาทิ นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้, หากยังมีการออกข้อสอบแบบเดิมๆ โดยไม่ได้ออกในสิ่งซึ่งเป็นหลักจริงๆ หรือออกข้อสอบไม่สอดคล้องกับหลักสูตร จะทำให้เด็กจะพะว้าพะวง และส่งผลทำให้ผู้ปกครองไม่สนับสนุนนโยบายนี้ อีกทั้งนักเรียนจะพากันไปเรียนพิเศษเพราะกังวลว่าครูสอนไม่ครบ และจะทำให้การปฏิรูปล้มเหลว ซึ่งปลายทางของการประเมินหรือการวัดผลการจัดการเรียนรู้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งสำคัญถึงขั้นที่ทำให้บริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งเกือบจะล่มจม เพราะไปหลอกการประเมินในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า แม้ไม่มีใครชอบการประเมิน แต่ก็ต้องการให้ทุกคนรักสถาบันประเมิน ต้องการให้ทุกคนรัก สทศ. เพราะเป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเด็กและผู้ปกครองกว่าล้านคนต่อปี กล่าวคือ หลังจากผ่านการสอบ O-NET หรือ GAT/PAT เด็กและผู้ปกครองควรจะดีใจว่าประเทศยุติธรรม ข้อสอบดี และมีความเป็นธรรม ไม่ใช่สอบเสร็จแล้วมีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์

สุดท้ายนี้ สทศ.จะเป็นหน่วยงานที่จะให้ความร่วมมือเรื่องการประเมินครูหรือการคัดครูในอนาคต รวมทั้งการประเมินนามธรรมอีกหลายๆ เรื่องด้วย โดยจะเป็นการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะฉะนั้น สทศ. จึงต้องเป็นองค์กรที่สำคัญและต้องพัฒนาตัวเองขึ้นอีก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องช่วยให้การพัฒนานั้นสำเร็จ และพร้อมให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ต่อไป


ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
4/12/2558