ไทยนิยม ยั่งยืน

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันจันทร์ ที่ 26 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารทุกสังกัดและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุม

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ แต่กระทรวงศึกษาธิการได้วางแผนขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ได้มีการประชุมชี้แจงนโยบายแนวทางขับเคลื่อนประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และวิทยากรระดับจังหวัดกว่า 2,800 คน

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป 428/2561 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงศึกษาธิการ  โดยกำหนดให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการเป็น 2 คณะ คือ “คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนฯ” มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และ ปลัด ศธ. เป็นเลขานุการ และ “คณะกรรมการนโยบายและแผนการขับเคลื่อนฯ” มี รมช.ศึกษาธิการ (พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธานกรรมการ และนายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นเลขานุการ

ผลการประชุมครั้งนี้

  • ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการดำเนินงาน ความคืบหน้า ความเชื่อมโยง Road Map ของการดำเนินงานตามนโยบายไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก รวมทั้งได้รับฟังการนำเสนอตัวอย่างโครงการสำคัญ ๆ ของทุกส่วนราชการใน ศธ. ที่สอดรับกับหลักการโครงการไทยนิยม ยั่งยืน

  • ให้ทุกองค์กรหลักกลับไปทบทวนแผนการทำงานที่สอดคล้องรองรับกับกรอบงานตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน  เพื่อต้องการให้ทุกหน่วยงานได้วิเคราะห์ภารกิจ บทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการทำงานเชิงบูรณาการ ให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ซึ่งจากการรับฟังข้อมูลที่ประชุมครั้งนี้มีหลายโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายแล้ว แต่หลายโครงการอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง จึงขอให้ทุกองค์กรหลักกลับไปทบทวนแผนการทำงานที่สอดคล้องรองรับกับกรอบงานทั้ง 10 เรื่องตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยเน้นหลักการ “วิเคราะห์ซ้ำ ทบทวนให้ครบถ้วน” ว่าแต่ละหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างไรต่อการขับเคลื่อนที่มุ่งเน้นลงไปถึงระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงหมู่บ้านกว่า 85,000 แห่งทั่วประเทศ โดยขอให้ลองนึกภาพว่ามีหน่วยงานหรือสถานศึกษากระจายอยู่ทุกหย่อมหญ้าทั่วประเทศ จะดำเนินการอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงโครงการเหล่านั้นของ ศธ.ได้

  • บุคลากรที่เป็นตัวแทนของ ศธ.ในพื้นที่  ซึ่งส่วนมากเป็นครู กศน. ให้ถือเป็นตัวแทนของ ศธ. โดยตรงและเป็นแกนหลักในการประสานงานระดับพื้นที่ โดยครูเหล่านี้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการโครงการไทยนิยม ยั่งยืนในระดับตำบลได้ และสามารถดึงผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรหลักอื่นเข้าไปเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการทำงานได้

  • มอบ สำนักงาน กศน. ให้จัดประชุมทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อเพิ่มเติมความรู้และทบทวนงาน รวมทั้งการสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ความตระหนัก การรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศทั้ง 4 ภูมิภาค ในช่วงเดือนเมษายน 2561 เป็นต้นไป เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน โดยหลักสูตรการประชุมควรมีเรื่องของเนื้อหาสาระ ชุดความรู้ กระบวนการ รวมทั้งเทคนิคการประชาสัมพันธ์ในระดับชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อให้ครู กศน.และทีมขับเคลื่อนฯ มีแนวทางการทำงานให้ประชาชนเข้าใจชุดความรู้ของ ศธ.ที่จะผลิตเผยแพร่ อันจะส่งผลถึงความร่วมมือร่วมใจของประชาชนต่อไป

  • มอบผู้ตรวจราชการ ศธ. (นายพิธาน พื้นทอง) เป็นหัวหน้าคณะทำงานการจัดทำ “ชุดความรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบประโยชน์จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของ ศธ. โดยคณะทำงานมาจากผู้อำนวยการสำนักด้านแผนและยุทธศาสตร์ของทุกหน่วยงาน เพื่อวิเคราะห์รวบรวมเรื่องต่าง ๆ มาจัดทำชุดความรู้ ที่อาจเป็น DVD หรือสื่ออื่น ๆ เพื่อแจกในชุมชนได้ ทั้งเรื่องที่เหมือนกันทั่วประเทศ เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปีฯ หรือในส่วนที่มีบริบทต่างกันในแต่ละภาค เช่น ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จะมีเรื่อง รร.ประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้กล่าวฝากข้อคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับสูตรของความสำเร็จในการทำงานด้วยว่า สูตรสำเร็จ = ความเพียร + ความร่วมมือ + ประชารัฐ เพื่อให้ทุกหน่วยงานนำไปปรับใช้การดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของพื้นที่ หรือยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางให้มากที่สุด


Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit ธเนศ งานสถิร
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร