100 ปี การศึกษาเอกชน
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศธ. เป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมวันการศึกษาเอกชน ประจำปี พ.ศ. 2561” ภายใต้แนวคิด “100 ปี การศึกษาเอกชน มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาไทย” เพื่อถวายราชสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และประชาสัมพันธ์ผลงานของนักเรียน นักศึกษา ครู และโรงเรียนเอกชน เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวชื่นชมการศึกษาเอกชนที่มีบทบาทและมีความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติตลอดระยะเวลากว่า 100 ปี สามารถช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาลในการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพตลอดมา โดยได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาเอกชนมีอิสระในการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ ในขณะเดียวกันยังคงมุ่งเน้นคุณภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของผู้รับบริการ คือ ผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งต่างมีความพึงพอใจต่อการจัดการศึกษาเอกชนเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้ชัดว่าการจัดการศึกษาเอกชนทำได้ดีและประสบความสำเร็จหลายเรื่อง ทั้งระดับอนุบาล หรือระดับมัธยมศึกษาหลายแห่งที่มีชื่อเสียงอยู่ในลำดับต้นของประเทศ
ดังนั้น ในอนาคตรัฐบาลเองต้องปรับให้มีการสนับสนุนการจัดการศึกษาเอกชนมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศให้แข่งขันได้และยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพราะการศึกษาเอกชนสามารถปรับตัวได้เร็วกว่า อาทิมีการนำ STEM เป็นพื้นฐานในการเรียนการสอน ซึ่งตรรกะของวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จะช่วยให้เด็กคิดเป็นวิเคราะห์ได้ ตั้งคำถามวิจัยนำสู่การแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านต่าง ๆ จนเกิดเป็นนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์สินค้า ทำให้เราพึ่งพาตนเองได้ ลดการนำเข้าและพึ่งพาจากภายนอก ซึ่งเป็น “หัวใจของไทยแลนด์ 4.0” ที่จะสามารถยกระดับประเทศและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross domestic product: GDP) เท่าเทียมกับนานาประเทศ และหากจะนำส่วนดีของการศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนมาบูรณาการและประสานความร่วมมือกัน ก็จะช่วยในการพัฒนาประเทศที่รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะมีต้นทุนด้านการศึกษาทำให้การพัฒนาประเทศไม่ได้เริ่มต้นจาก “0”
นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า การศึกษาเอกชนมีความมุ่งมั่นจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี รวมทั้งช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยมิได้หวังผลเฉพาะจัดการศึกษาเพื่อธุรกิจเท่านั้น แต่ในทางกลับกันการศึกษาเอกชนแทรกอยู่ทุกมิติในการจัดการศึกษาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การสอนภาษาอังกฤษ การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ การศึกษาสำหรับเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนโรงเรียนสอนศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
โดยในอนาคต การศึกษาเอกชนเตรียมปรับตัวรองรับรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรม จัดกระบวนการเรียนรู้จากทั่วโลกไว้ภายในห้องเรียน อีกทั้งเพิ่มความรู้ทักษะอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ตลอดจนปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม วิถีความเป็นไทย พร้อมน้อมนำแนวพระดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่ององค์ 4 คือ พุทธศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา ตลอดจนใส่ใจเรื่องสุขภาพพลานามัยตามช่วงวัย นอกจากนี้ ในระยะยาวอีก 20 ปีข้างหน้า ยังตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการจัดการศึกษาเอกชนกับการศึกษารัฐบาลเป็น 50:50 ภายใต้นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ การขับเคลื่อนเครือข่ายการศึกษาภาคเอกชน ตลอดจนการจัดการเชิงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดมากยิ่งขึ้นด้วย
ในโอกาสนี้ รมช.ศธ.มอบโล่โรงเรียนเอกชน 100 ปี จำนวน 21 โรงเรียน และมอบรางวัล O-Net เกียรติยศ จำนวน 11 โรงเรียน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานนักเรียนและโรงเรียนเอกชน อาทิ นิทรรศการ “100 ปี การศึกษาเอกชนมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาไทย”, การจัดการศึกษาเอกชนเชิงพื้นที่, เอกชนก้าวไกล นำการศึกษาไทยสู่สากล (ปฐมวัยสู่การเรียนรู้ ภาษาสู่สากล นวัตกรรมทางการศึกษาสู่ไทยแลนด์ 4.0 การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการแข่งขันทักษะวิชาการ) เป็นต้น
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
9/2/2561