Asia Pacific Youth Exchange

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงาน “The 2nd Asia Pacific Youth Exchange” เมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2560 ณ United Nations Conference Center อาคารสหประชาชาติ โดยมี Ms. Vanessa Steinmayer, Chief a.i. Sustainable Demographic Transition Section Social Development Division – UNESCAP, Dr. Nagesh Kumar, Chief of Social Development Division – UNESCAP, Mr. Martin Hart-Hansen, Deputy Resident Representative, UNDP Thailand, Mr. Hyoung Kim, Managing Director, Urban Youth Academy และเยาวชนจาก 22 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 160 คน เข้าร่วมงาน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า ในนามของรัฐบาลไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นความยินดียิ่งที่ได้มาร่วมพิธีเปิดโครงการ Asia-Pacific Youth Exchange ในครั้งนี้ ซึ่งมีเยาวชนจำนวนมากที่เป็นผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาเข้าร่วม ยินดีต้อนรับและขอแสดงความยินดีกับเยาวชนทุกคนที่ได้มาเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะอนาคตของโลกขึ้นอยู่กับเยาวชนทุกคน

ในปี พ.ศ.2558 ผู้นำโลกได้ประชุมร่วมกันที่สหประชาชาติ และกำหนดให้มีวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ทั้ง 17 ด้าน ซึ่งเป็นวาระของโลกที่ไม่ได้ดำเนินการได้โดยง่าย อาทิ การขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียม เป็นต้น โดยการที่จะบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 นั้น เยาวชนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อทำให้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ระบบการศึกษาต้องสามารถรับมือกับประเด็นที่โลกให้ความสำคัญได้ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมให้เยาวชนรู้จักการเป็นผู้รับและเป็นผู้ให้ เพื่อทำให้มั่นใจว่าเราจะเติบโตไปด้วยกันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ ตลอดจนร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ด้านไปด้วยกัน อีกทั้งโครงการนี้จะสามารถสร้างรูปแบบซึ่งเยาวชนรุ่นใหม่สามารถพัฒนาความรู้และสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกได้

ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะพัฒนาและสนับสนุนค่านิยมที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ระบบการศึกษาไทยก็มุ่งเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 อย่างชัดเจน และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทุกประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาซึ่งกันและกันเพื่อที่จะบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030

นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว กระทรวงศึกษาธิการไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเด็กทุกคนให้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม และมีโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักเรียน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีพื้นฐานมาจากทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยวิสัยทัศน์ใหม่ด้านการศึกษานี้มุ่งไปที่กระบวนทัศน์การศึกษาแบบใหม่ ที่จะส่งเสริมคุณภาพการศึกษา, พัฒนาประสิทธิภาพทางการศึกษา, ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผลิตและเตรียมความพร้อมกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ อีกทั้งยังเน้นย้ำในเรื่องของความรู้คู่คุณธรรม หรือค่านิยมที่ดีงามในองค์กร

นอกจากนี้ หน่วยงานในทุกภาคส่วนของประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยทรงพระราชทานไว้ มาบูรณาการในการทำงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในเรื่องของปัจเจกบุคคล, ครอบครัว, ชุมชน, สังคม และประเทศชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับสังคมแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง

ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอแสดงความยินดีและขอบคุณ Urban Youth Academy ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหลักร่วมกับ GlobalACT และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาจนกระทั่งดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลลัพธ์จากโครงการนี้จะช่วยเสนอแนะแนวทางด้านนวัตกรรมที่เยาวชนจะสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองความต้องการของชุมชนและสังคมต่อไป

“โครงการ Asia-Pacific Youth Exchange”
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-29 กรกฎาคม 2560 โดยองค์กร Urban Youth Academy ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นในสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งโครงการ Asia-Pacific Youth Exchange มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้บทบาทของตนเองในการผลักดันการพัฒนาสังคม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ตลอดระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการเยาวชนจะได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฟังบรรยายจากวิทยากรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมพัฒนาความเป็นผู้นำ การลงพื้นที่ในชุมชน และการนำเสนอผลงานของผู้เข้าร่วมโครงการสู่สาธารณชน โดยได้รับความร่วมมือในการจัดงานจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติในเอเชียแปซิฟิก อาทิ UNDP UNESCAP UNESCO เป็นต้น


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
ขอบคุณข้อมูล: สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
18/7/2560