Boot Camp

จังหวัดชลบุรี นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2559 ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน อ.สัตหีบ โดยมีนายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายภวัต เลิศมุกดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี, นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล (ประเทศไทย) ร่วมในพิธีเปิด

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร โดยมีจุดเริ่มต้นในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยทุกคนเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ซึ่งได้ร่วมมือกับ GMM Grammy และโพลีพลัส ในการผลิตวีดิทัศน์ที่รวมเซเล็บทุกวงการทั้งดารา นักร้อง นักแสดง รวมทั้งนักกีฬาชื่อดัง มาเข้าร่วมประชาสัมพันธ์ตามโครงการ “I SPEAK ENGLISH เพื่อชีวิตที่ BETTER” ซึ่งได้มีการแถลงข่าวร่วมกันไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ขณะนี้วีดิทัศน์ได้รับการเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมจำนวนมาก

กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เริ่มดำเนินโครงการต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาความสามารถภาษาอังกฤษและเทคนิคการสอนของครูสอนภาษาอังกฤษ ด้วยการจัดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้ม (English Boot Camp) ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการอบรมทั้งทักษะภาษาและเทคนิคการสอน รวมทั้งจัดกิจกรรมและบริบทในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารตลอดระยะเวลาอบรม 37 วัน (5 สัปดาห์) ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม – 11 เมษายน 2559 โดยใช้วิทยากรชาวต่างประเทศที่เป็นเจ้าของภาษาจำนวน 30 คน ที่มีความสามารถภาษาอังกฤษสูงและมีความสามารถในการใช้เทคนิคการสอนภาษอังกฤษ หรือจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่เป็นแม่แบบได้ รวมทั้งมีการประเมินทักษะภาษาอังกฤษ 4 ทักษะ ได้แก่ ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน

สำหรับครูที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้คัดเลือกจากผลการประเมินเพื่อจัดกลุ่มครูตามความสามารถ (Placement Test) จำนวน 350 คนเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วยครูระดับประถมศึกษา 160 คน และครูระดับมัธยมศึกษา 190 คน โดยใช้เกณฑ์ครูที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษระดับ B2 ขึ้นไป และมีอายุไม่เกิน 40 ปี จากทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาความสามารถภาษาอังกฤษและเทคนิคการสอนของครูสอนภาษาอังกฤษ และการประเมินความก้าวหน้าด้านความสามารถภาษาอังกฤษของครูสอนภาษาอังกฤษที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เครื่องมือมาตรฐานในการประเมินผลตลอดโครงการ อาทิ การทดสอบความสามารถทางภาษาอังกฤษของครูทั้ง 4 ทักษะโดยใช้แบบทดสอบ Aptis และการสาธิตการสอน (Micro Teaching) รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อติดตามพฤติกรรมการสอนของครูที่โรงเรียนและการขยายผลในโรงเรียนและในเขตพื้นที่ของตนในฐานะครูแกนนำต่อไปด้วย

ทั้งนี้ งบประมาณที่ สพฐ.ได้ใช้จ่ายดำเนินงานโครงการนี้ประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินไม่มากเมื่อเทียบกับระยะเวลาการเข้าค่าย ประสิทธิภาพ และความสำเร็จของโครงการ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญให้ สพฐ. มีรูปแบบการพัฒนาวิทยากรแกนนำการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ได้ผลจริงในการเผยแพร่ขยายผลไปยังสังกัดต่าง ๆ ในระยะต่อไปด้วย

นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการนี้ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีการอบรมแบบเข้มในครั้งนี้ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สำคัญของโลกทั้งในด้านการค้า การทูต เศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าภาษาไทย แต่เมื่อเราก้าวออกไปจากประเทศไทยแล้ว จะมีความจำเป็นในการสื่อสารภาษาอังกฤษมากกว่า ดังนั้นการอบรมในครั้งนี้จึงเน้นการนำภาษาอังกฤษไปใช้เพื่อการสื่อสาร (Functional English) โดยไม่ได้เน้นเฉพาะการใช้ไวยากรณ์ดังเช่นอดีตที่ผ่านมา


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี ถ่ายภาพ
7
/3/2559