CP All Education Forum

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “ซีพี ออลล์ กับยุทธศาสตร์การศึกษา 2562” (CP All Education Forum 2019) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2562 ณ ห้องประชุม Auditorium ชั้น 16 อาคาร ซีพี ออลล์ อะคาเดมี่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ถ.แจ้งวัฒนะ โดยมีนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ผู้บริหารระดับสูง ตลอดจน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และผู้แทนสถาบันการศึกษาเครือข่าย เข้าร่วม

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวแสดงความชื่นชมการร่วมจัดการอาชีวศึกษาของภาคเอกชน ที่สามารถตอบโจทย์การผลิตคนได้ตามความต้องการของตลาดและสถานประกอบการ เพราะภาคธุรกิจเข้ามาช่วยจัดการศึกษาเอง จึงสามารถพัฒนาศักยภาพจากการปฏิบัติจริงได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

“การแลกเปลี่ยนการศึกษาไทยในอนาคต” เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน เมื่อเราสร้างคนให้มีคุณภาพได้ ศักยภาพในการแข่งขันก็จะเพิ่มไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการสร้างคนให้มีคุณภาพการศึกษาที่ดีทุกระดับ จึงมีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะคนที่มีคุณภาพเท่านั้น ที่จะสามารถเผชิญกับความท้าทายทั้งในโลกปัจจุบันและโลกอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็น ความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป พลวัตโลกศตวรรษที่ 21 รูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมไปถึงการเปลี่ยนรุ่นของคนไปสู่ Generations Z และนโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นต้น

ต้องยอมรับว่า การสร้างคนของบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) สอดคล้องกับการเรียนการสอนสมัยใหม่ ที่การเรียนและการทำงานกลายเป็นเรื่องเดียวกัน รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์กว่า 20 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ด้วยระบบ VDO Conference ช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนได้เช่นเดียวกับผู้เรียนที่อยู่ในเมือง พร้อมช่วยให้การเรียนง่ายขึ้น เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่สำคัญคือ เป็นการเรียนที่เน้นสมรรถนะและทักษะโดยใช้ประสบการณ์จริง การปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ

ดังนั้น เชื่อว่าผู้เรียนจะสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง จากปัญหาที่พบเจอในการทำงาน การค้าขาย การให้บริการกับลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้า และเป็นไปได้ว่า จะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้ค้นพบตัวตนเกี่ยวกับอาชีพหรือการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้อีกทางหนึ่งด้วย

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ กล่าวว่า การศึกษาของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมาก แต่สิ่งที่มีความสำคัญอันดับแรกก็คือ คนที่จะต้องสร้างให้มีความสามารถสูงกว่าเทคโนโลยี พร้อม ๆ กับการเรียนอย่างมีความสุข และสนุกกับการเรียนรู้และการทำงานเสมอ โดยจะเน้นทักษะ สมรรถนะ พร้อมจัดให้มีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลา ให้เป็นคนมีคุณภาพ มีความรู้ทักษะที่ทันสมัย และเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไปด้วย

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ ว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการศึกษาของรัฐบาล โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของเด็กและเยาวชน พร้อมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ที่จะเป็นรากฐานในการพัฒนาคนให้มีความรู้ ความคิด ความสามารถอย่างแท้จริง

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จึงมีแนวคิดริเริ่มจัดหลักสูตรการเรียนภาคทฤษฏีควบคู่กับการปฏิบัติงานจริง (Work-based Education) ในสถานประกอบการของบริษัท คือร้าน 7-11 ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย จากนั้นในปี 2558 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ก่อตั้ง “วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์” (PAT) ถือเป็นสถานศึกษาเพื่อสังคมเป็นแห่งแรก พร้อมเปิดศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์กว่า 20 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อรองรับนักเรียนที่อยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยรูปแบบการสอนระบบ VDO Conference ในหลักสูตรภาคทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา เราได้ผลิตเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถ เป็นทั้งคนดีและคนเก่งของสังคม กว่า 30,000 คน และในปี 2562 ได้เตรียมการที่จะมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาของปัญญาภิวัฒน์และเครือข่าย อีกกว่า 24,000 ทุน รวมเป็นเงิน 1.36 ล้านบาท เพื่อยืนหยัดตามปณิธานของซีพี ออลล์ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้กับทุกคน” สืบไป

ในส่วนของความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา เริ่มดำเนินการในปี 2538 โดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัด “โครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี” ในระบบการเรียนการสอนภาคทฤษฎีควบคู่การปฏิบัติงานจริง (Work-based Education) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นเจ้าของกิจการ ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในวิชาชีพก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาและสามารถทำงานได้ จนกระทั่งในปี 2557 ได้ขยายความร่วมมือไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาการจัดการธุรกิจค้าปลีก มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 45 แห่ง ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีความรู้พื้นฐาน มีคุณภาพและคุณธรรม

Written by ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว
Photo Credit ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor
บัลลังก์ โรหิตเสถียร