EDU Digital 2019 ภาคตะวันออก
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ “EDU Digital 2019” การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา, ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 400 คน เข้าร่วมงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมสตาร์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง
นายยุทธพล องอาจอิทธิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่มีความเจริญในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ฯลฯ โดยเฉพาะด้านการศึกษา เน้นกำหนดให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้กับงานด้านการศึกษา ที่จะสร้างก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการพัฒนาเด็กเยาวชน ให้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ในการเผยแพร่และให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อการศึกษา สอดรับกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ได้จัดการประชุมวิชาการการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล “EDU Digital 2018” ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ จังหวัดระยอง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ได้รับรู้องค์ความรู้ เทคนิคและวิธีการ ตลอดจนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล โดย สพฐ. ได้รับความร่วมมือจากวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมากประสบการณ์ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรตรงตามแนวทางจัดการบริหารจัดการศึกษา และการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ตอบสนองความต้องการในทุกพื้นที่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบหัวข้อหลักสูตรสอดรับกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการเร่งสร้างการรับรู้ ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงข้อมูลและข่าวสาร ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ การป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากโลกไซเบอร์, นวัตกรรม เทคโนโลยี AI, ห้องเรียน 4.0 เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินงานครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย คือจังหวัดระยอง ที่เป็นพื้นที่นวัตกรรม และ EEC ตลอดจนเป็นพื้นที่ตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบาย ประเทศไทย 4.0 เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ จึงนับเป็นโอกาสที่ดี ในการสร้างศักยภาพและรากฐานความเข้มแข็ง พร้อมทั้งเกิดเครือข่ายในการนำเทคโนโลยีไปลดทอนความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันก็ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเติมเต็มความเจริญก้าวหน้าให้กับพื้นที่ดังกล่าวสู่ระดับสากลต่อไป
ในส่วนของการวางระบบพื้นฐานการศึกษา เพื่อรองรับการเรียนรู้โดยใช้ Digital Platform ได้มอบแนวทางให้เน้นการใช้ “เทคโนโลยี” ผสานกับ “คุณค่าของครู” ควบคู่กันไป ซึ่งคำว่า “คุณค่าครู” ในที่นี้มีความหมายและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ดีเพียงใด แต่คุณค่าของครูก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งการจัดการเรียนการสอน การใช้เทคนิควิธีการในการถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ คุณธรรมจริยธรรม สร้างภูมิคุ้มด้วยด้วยระบบคิดวิเคราะห์และใช้วิจารณญาณบนโลกไซเบอร์อย่างสร้างสรรค์และถูกต้อง ตลอดจนน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง, การสร้างลักษณะพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณธรรม, เรียนแล้วมีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี นับเป็นการสร้างคนให้เป็นทั้งคนเก่ง คนดี และมีคุณภาพ
ขอชื่นชมผลการดำเนินงานของการจัดงานครั้งนี้ที่มีความก้าวหน้ามาก ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากว่า 20 เขต ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ตลอดจนภาคเอกชน ที่ได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญระดับประเทศ มาบรรยายถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการในหัวข้อต่าง ๆ แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา อาทิ อนาคตของการเรียนรู้ของผู้เรียนดิจิทัลและการปรับตัวของการศึกษาไทย โดย ดร.ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สป.ศธ., นวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยียุค AI โดย ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, ป้องกันตัวอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโลกไซเบอร์ โดย นายปิตุพงศ์ ยาวิราช ที่ปรึกษาด้านระบบความปลอดภัยสารสนเทศ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ส่วนแนวทางการดำเนินงานในห้วงต่อไป มอบให้ สพฐ. ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเท่าเทียม พร้อมจัดประชุมวิชาการเช่นนี้ให้ครบทั้ง 6 ภาคด้วย
รมช.ศธ. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พร้อมสร้างโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน มีความก้าวหน้าในหลายส่วน อาทิ
-
การดำเนินงานขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค
-
การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ในโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง ตั้งแต่ปี 2538
-
ระบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกล ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT)
-
ระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยยึดถือภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นฐาน (ระบบ TEPE Online)
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล” (1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพลังงาน เพื่อพัฒนาโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในระดับตำบลให้มีความเข้มแข็ง ครูมีคุณภาพ สามารถจัดการศึกษาคุณภาพสูงเท่าเทียมกันทั่วประเทศ พร้อมให้บริการทางการศึกษาแก่นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ตำบลนั้น ๆ ในช่วงเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2562 นี้
Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร