EDU Digital 2019 เชียงใหม่

พล.อ.สุรเชษฐ์​ ช​ั​ยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ เป็นประธาน​เปิด​งานประชุม​วิชาการ “EDU Digital 2019” การขับเคลื่อน​การศึกษา​ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนา​นนท์กุล​ ที่ปรึกษา​รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ, นายบุญรักษ์​ ยอดเพชร​ เลขาธิการ​คณะกรรมการ​การศึกษา​ขั้นพื้นฐาน, ศึกษาธิการ​ภาค, ศึกษาธิการ​จังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา, ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 350 คน เข้าร่วมงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มกราคม​ 2562 ณ โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่



พล.อ.สุรเชษฐ์​ ชัยวงศ์​ กล่าวว่า การศึกษา​ถือเป็นต้นทางที่สำคัญสำหรับการพัฒนาชาติในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านนวัตกรรม ที่ในโลกยุคปัจจุบันเทคโนโลยี​และดิจิทัลเข้ามามีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ประกอบกับการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 6 พื้นที่นวัตกรรม​การศึกษานำร่อง จึงได้จัดการประชุมวิชาการในครั้งนี้ขึ้น


โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันจัดการศึกษาให้มีความเข้มแข็ง (Education Strong) โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาและครู ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและอยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุดรองจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ขอให้ช่วยกันวางแผนและพัฒนาการศึกษาให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุด สำหรับหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการนั้น ควรมีการบูรณาการร่วมกัน โดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละองค์กรหลักของ ศธ. ก็ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมพิจารณาบทบาทหน้าที่ของตนว่า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านใด เพื่อใช้เป็นแนวทางจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม


สำหรับการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ข้อที่ 3 “ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ “มีการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษ​ที่​ 21, การใช้ Digital Platform เป็นต้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ข้อที่ 6 “ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ” เกี่ยวกับการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี​ ข้อมูลขนาดใหญ่ และระบบการทำงานดิจิทัล มาประยุกต์ใช้ให้เชื่อมโยง โดยยึดหลักธรรมาภิบาล


นอกจากนี้ ขอให้น้อมนำศาสตร์พระราชา หลักการทรงงาน และพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) มาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการทำงาน อาทิ พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า “งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ดังนั้น จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 12 ธันวาคม 2512) รวมทั้งพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง, การสร้างลักษณะพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณธรรม, เรียนแล้วมีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี โดยรัฐบาลได้น้อมนำศาสตร์พระราชาและพระบรมราโชวาทมาเป็นหลักในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ด้วย


รมช.ศึกษาธิการ​ กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันเด็ก ๆ มีโทรศัพท์มือถือ​แทบทุกคน ซึ่งเทคโนโลยีมีทั้งคุณและโทษ จึงขอฝากครูสอนเด็กให้รู้ทั้งประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี พร้อม ๆ กับให้ความรู้เรื่องการป้องกันอันตรายจากโลกไซเบอร์ด้วย เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนเก่งและคนดี มีคุณธรรม มีทักษะชีวิต ส่งผลให้ประเทศชาติมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง



นายบุญรักษ์​ ยอดเพชร​ เลขาธิการ​คณะกรรมการ​การศึกษา​ขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายนำเทคโนโลยี​และดิจิทัล มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งความรู้อย่างเสมอภาคและทั่วถึง ตลอดจนร่วมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและ Social Media อย่างสร้างสรรค์นั้น


สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ​ ในการเผยแพร่และให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อการศึกษา จึงได้จัดการประชุมวิชาการการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล “EDU Digital 2018” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน​ 2561 ที่จังหวัดสงขลา และ “EDU Digital 2019” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 5-6 มกราคม​ 2562 เพื่อทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีในการบูรณาการ​จัดการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลาย โดยมีรายละเอียดหัวข้อการประชุม อาทิ นวัตกรรม เทคโนโลยี ดิจิทัลยุค AI, ห้องเรียน 4.0 ที่สอนให้เด็กคิดเป็นและผลิตนวัตกรรม​ด้วยเทคโนโลยี, การป้องกัน​ตัวให้ปลอดภัย​จากโลกไซเบอร์, เทคโนโลยี​ระบบอัตโนมัติ​กับการจัดการศึกษา​ขั้นพื้นฐาน, วิทยาการคำนวณ, การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นตัวผู้เรียน เป็นต้น










Written by อรพรรณ​ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit อิทธิพล​ รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor/Graphic บัลลังก์ โรหิตเสถียร