Education ICT Forum 2016

Education ICT Forum 2016





นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพิธีเปิดและเสวนาเรื่อง “Digital Technology for 21 Century The Future of Higher Education” ในงาน Education ICT Forum 2016 เมื่อวันพุธที่ 27 เมษายน 2559 ณ ห้องวายุภักษ์ 5-7 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายมนู อรดีดลเชษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  รศ.ธนชาติ นุ่มนนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ตลอดจนผู้บริหารบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำจำนวนมาก เข้าร่วมงาน



รศ.ธนชาติ นุ่มนนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยีพลังงาน และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งต้องปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจและระเบียบใหม่ของโลกที่นับวันจะซับซ้อนยิ่งขึ้น


สถาบันอุดมศึกษา จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะเป็นแหล่งองค์ความรู้และพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพเพื่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ โดยสถาบันการศึกษาต้องพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดดในทุก ๆ ด้าน


การดำรงคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริหารจัดการ รวมทั้งการติดต่อสื่อสารภายในองค์กรหรือระหว่างองค์กร


ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงได้มีส่วนร่วมอภิปราย นำเสนอผลงาน วิสัยทัศน์ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อยกระดับการเรียนการสอน การวิจัย การบริหารจัดการ และการบริการวิชาการ อีกทั้งเป็นเวทีที่จะเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะเฉพาะทางและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์



พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดสัมมนาในหัวข้อที่สำคัญเช่นนี้ เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีฯ เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุก ๆ ด้าน อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งที่ตอบสนองการพัฒนาในทุกบริบท คือ การศึกษา เพราะการศึกษาทำให้เกิดปัญญาและองค์ความรู้ อีกทั้งความรู้ของทุกศาสตร์แฝงไปด้วยเทคโนโลยี หากเราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จะส่งผลดีต่อการศึกษาอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยีฯ ไปพัฒนาการเรียนการสอน การมีส่วนร่วมในการวิจัย และการให้บริการสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการชุมชน เนื่องจากสถานศึกษานั้นตั้งได้อยู่ทุกพื้นที่ สถานศึกษาจึงต้องเชื่อมโยงกับชุมชนด้วย


ในขณะนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีแนวทางในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีในทุกพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนสามารถนำเทคโนโลยีไปประโยชน์ได้ อีกทั้งเทคโนโลยีด้านการศึกษาเป็นกระแสที่ต้องติดตาม และต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในบริบทต่าง ๆ ให้ได้


ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ โดยคาดหวังว่าทุกท่านจะนำความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาได้



นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวในการเสวนาภายหลังพิธีเปิด เรื่อง “Digital Technology for 21 Century, The Future of Higher Education” ว่า โลกมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ อาจจะทำให้คนตกงานมากขึ้น ในประเทศไทยเองก็มีผู้ตกงานจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องการผู้ทำงานที่มีความสามารถและทักษะในด้านต่างๆ ดังนั้นเราจะต้องรู้ปริมาณความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งปริมาณความต้องการของตลาดแรงงานก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะโลกก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทางกระทรวงศึกษาธิการตระหนักดีในส่วนนี้


การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโลก ล้วนเกิดจากแรงกดดัน ด้านเทคโนโลยีก็เช่นกัน เช่น มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากรัฐบาลให้เงินทุนกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างอาวุธที่จะใช้ในสงคราม อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ อินเทอร์เน็ตที่ถูกนำมาใช้ในช่วงสงครามโลก อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ คือ การนำคนเก่ง ๆ มารวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในเรื่องนั้น ๆ ดังนั้นเราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ด้วย


ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาจะต้องมีหลักการสำคัญ 3 อย่างในการพัฒนาการศึกษา คือ การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ การมีการแข่งขันอย่างเสรี และมีระบบการเงินการคลังที่มั่นคง อีกทั้งจะต้องไม่กล่าวโทษการศึกษาในระดับต่าง ๆ ว่าสร้างและผลิตนักเรียนนักศึกษามาไม่ดี หากแต่เราต้องช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานเพื่อทำให้เด็กมีความรู้ที่แน่นขึ้น


สำหรับการนำบทเรียนออนไลน์มาเปิดใช้อย่างเสรี มีผู้กล่าวว่าหากมีบทเรียนออนไลน์เด็กก็ไม่ต้องมานั่งเรียนแล้ว ซึ่งเทคโนโลยีนั้นมีประโยชน์ แต่ปัญหาคือเมื่อเด็กลงทะเบียนเข้าไปเรียนออนไลน์จะมีจำนวนนักเรียนเพียงไม่กี่คนที่สามารถเรียนจบหลักสูตรได้ เราไม่ปฏิเสธว่าหากจะนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยสอนและเพิ่มประสิทธิภาพทางการเรียนการสอน เพราะในปัจจุบันก็มี e-Book จำนวนมาก แต่การอ่านหนังสือจากแท็บเล็ตกับการอ่านหนังสือแบบตำรามีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน


ดังนั้น ประเด็นสำคัญ คือ เราต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาด้านการศึกษาอย่างไร ต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่ใช่มีแต่คำพูดว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งผู้กำหนดนโยบายต้องมีแนวทางการดำเนินงานและมีแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจน




อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
27/4/2559