EEC TVET Career Center

จังหวัดฉะเชิงเทรา – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา (EEC TVET Career Center: Chachoengsao) เมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2560 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา โดยมี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอนุกูล ตังคณานุกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา, ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดระยอง, นายสุริยะ จิตรพิไลเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา, ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ตลอดจนผู้บริหารสถาบันอาชีวศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยดำเนินการใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมถึงเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องนั้น กระทรวงศึกษาธิการก็ได้คิดล่วงหน้าถึงการทำงานตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ นั่นคือการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) ใน 3 จังหวัด โดยมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และทำหน้าที่หลักในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามศักยภาพ บริบท จุดแข็ง และโอกาสในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับการประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 20 ปี ด้วย

สำหรับลำดับความเป็นมาในการวางแผนการจัดการศึกษาในพื้นที่ EEC นั้น กระทรวงศึกษาธิการ ได้เริ่มดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ทั้งภาพรวมและรายจังหวัด ซึ่งได้มีการประชุมสัมมนาจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  เมื่อวันที่ 24-25 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธานเปิด และรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) ร่วมรับฟังแผนการจัดการศึกษาในพิธีปิดการประชุมสัมมนา เพื่อให้เกิดการเรียนนำแผนไปสู่การปฏิบัติจริง

จากนั้นในวันที่ 11 เมษายน 2560 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับแผนงานของรัฐบาล เพื่อเตรียมกำลังคนให้รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ได้ดำเนินการประชุมหารือมาโดยตลอด เนื่องจากต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

จนกระทั่งในวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และได้แถลงยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม 2560 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานมีการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนมาโดยลำดับ

สำหรับการจัดตั้งศูนย์ประสานงานฯ นี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พิจารณาจัดตั้งศูนย์ประสานฯ โดยไม่มีนโยบายให้สร้างตึกใหม่ ซึ่งขณะนี้มีศูนย์ระดับภาค 1 ศูนย์ ที่จังหวัดชลบุรี และศูนย์ระดับจังหวัดในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา อีกทั้งได้จัดตั้งศูนย์ย่อยใน 3 จังหวัดดังกล่าวอีก 10 ศูนย์ ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าดำเนินไปด้วยดี และได้รับคำชมจากนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) ว่าเป็นการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน มีแผน มีกำลังคน มีหน่วยงาน และมีงบประมาณรองรับ

นอกจากนี้ จากการที่ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่มีจุดเด่นด้าน Smart Farmer & Modern Farm และวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี อ.โชคชัย ผลการตรวจเยี่ยมพบว่าสถาบันอาชีวศึกษาทั้งสองแห่งมีมาตรฐานสูง จึงมอบหมายให้ สอศ. ทบทวนและพิจารณาการลดช่องว่างระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาที่มีมาตรฐานสูงและสถาบันอาชีวศึกษาที่มาตรฐานยังไม่ถึงเกณฑ์ โดยเน้นย้ำว่าสิ่งที่มีมาตรฐานสูงอยู่แล้วให้รักษาไว้และพัฒนาต่อ ส่วนที่มาตรฐานยังไม่เพียงพอก็ต้องพัฒนาและยกระดับ เพื่อให้มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่มีมาตรฐานดีทั่วประเทศ และถือเป็นการกระจายการบริการทางการศึกษาให้ประชาชนอย่างทั่วถึงด้วย รวมทั้งให้พิจารณาการจัดตั้งศูนย์ในรูปแบบเดียวกับศูนย์ประสานงานฯ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในภูมิภาคอื่น ด้วยการบูรณาการและปรับใช้ของเดิม และขอให้ยึดกระบวนการทำงานที่เข้มแข็งของศูนย์ประสานงานฯ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานในพื้นที่ EEC ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว โดยคาดว่าในอนาคตพื้นที่ EEC จะได้รับการตรวจเยี่ยมเช่นกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญและเป็นความมุ่งหวังของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เรามีแผนที่ดีแล้ว ก็ต้องปฏิบัติให้ดีด้วย รวมทั้งต้องมีการทบทวนแผนหลังการทำงานเป็นห้วง ๆ ว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาอีกบ้าง ตลอดจนติดตามสถานการณ์ของโลกและก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ทั้งในประเทศเพื่อนบ้าน ระดับภูมิภาค และระดับโลก

หลังจากนี้จะจัดมีการประชุมหารือเพื่อทบทวนผลการดำเนินงานใน 3 ขั้น

  • ขั้นที่ 1 จะเริ่มระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2560 โดยจะเชิญผู้แทนหรือฝ่ายเลขาของ กศจ. ของแต่ละจังหวัดมาหารือเพื่อทบทวนผลการดำเนินงานประจำปี และคิดล่วงหน้าว่าในปีต่อไปจะทำอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นการประชุมร่วมกันของจังหวัดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และการศึกษาในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการคิดให้ครบทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัด ว่าจะดำเนินโครงการอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนได้รู้ว่าแผนการศึกษาของตนยังขาดอะไรและต้องเติมเต็มอะไร จากนั้นให้นำผลการหารือรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธาน กศจ. เพื่อแจ้งให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาสังคมรับทราบและร่วมกันปรับปรุงพัฒนาแผนการศึกษาให้เกิดความสมบูรณ์ต่อไป

  • ขั้นที่ 2 จะจัดการประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน 2560 โดยจะเรียนเชิญ กศจ. ทั้งคณะของแต่ละจังหวัดมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยเชื่อมโยงกับส่วนกลางและองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะเป็นการนำแผนการศึกษาที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาและทบทวนแล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกครั้ง

  • ขั้นที่ 3 ผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็นกลุ่มเดียวกับการประชุมในขั้นที่ 2 แต่จะเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม โดยให้แต่ละพื้นที่กำหนดและพิจารณาเองว่าต้องการเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคส่วนใดบ้าง อาทิ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเติมเต็มแผนการศึกษาให้มากที่สุด รวมทั้งจะมีการบรรยายพิเศษในวันที่ 24 กันยายน โดยได้รับความร่วมมือจากนายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ครศ.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ด้วย ส่วนในวันที่ 25 กันยายน ได้เรียนเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเยี่ยมชมศูนย์ประสานงานผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี เนื่องจากเป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ ในระดับภาค จากนั้นในช่วงบ่ายจะเรียนเชิญนายกรัฐมนตรี รับทราบการรายงานของศูนย์ฯ และมอบนโยบายเพื่อให้ทราบแนวทางว่าเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรบนพื้นฐานของความเข้มแข็งและมั่นคง

นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป 1226/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ของกระทรวงศึกษาธิการ สั่ง ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2560 โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการ 2 คณะ คือ 1) คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 12 คน โดย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน, รมช.ศึกษาธิการ เป็นรองประธาน, ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ 2) คณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 23 คน โดย รมช.ศึกษาธิการ (พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธาน โดยได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา และจะมีการประชุมอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคมนี้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงาน

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานต่าง ๆ หากพบปัญหาในการทำงานก็สามารถนำเสนอได้เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างรวดเร็ว โดยขอให้สำรวจปัญหาตามหลักการ ความเร่งด่วน และลำดับความสำคัญ เพื่อเตรียมนำเสนอในโอกาสต่อไป รวมทั้งขอขอบคุณและชมเชยสำหรับการทำงานของทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างเข้มแข็งและมุ่งมั่นตั้งใจมาตลอด

นายอนุกูล ตังคณานุกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดหนึ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์, นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี และนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ มีโรงงานรวมกว่า 300 โรงงาน อีกทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งดังกล่าวอีก 1,749 แห่ง รวมทั้งจังหวัด 2,049 แห่ง ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักเพื่อสนองตอบความต้องการกำลังคนในสาขาวิชา First S-Curve และ New S-Curve และเพื่อยกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำในเอเชีย พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างทั่วถึง

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินงานตามนโยบายในทุก ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของการจัดทำแผนการดำเนินงานที่คำนึงถึงจุดแข็งและโอกาสของแต่ละจังหวัด สำหรับศูนย์ประสานงานฯ จังหวัดฉะเชิงเทราแห่งนี้มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานมาโดยลำดับ โดยสถานศึกษา สถานประกอบการ และองค์กรต่าง ๆ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งทุกภาคส่วนมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน อีกทั้งผลการดำเนินงานมีประโยชน์และเข้าถึงประชาชน

นายสุริยะ จิตรพิไลเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในระยะแรกศูนย์ประสานงานฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ดำเนินงานตามแผนระยะเร่งด่วนคือ การจัดทำศูนย์ข้อมูลกลาง ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานสถานศึกษา ข้อมูลครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้อมูลนักเรียน ข้อมูลความต้องการกำลังคน และข้อมูลความต้องการการผลิตกำลังคน โดยประสานงานกับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ทั้งสามแห่ง ในส่วนของการส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพนั้น ได้ทำการสำรวจข้อมูลเพื่อจัดทำหลักสูตรที่มุ่งเน้นต่อนโยบายด้านภาษาต่างประเทศ และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น จำนวน 28 หลักสูตร อีกทั้งมีการจัดเตรียมโปรแกรมวัดแววความถนัดด้านอาชีพ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาได้ศึกษาตามความถนัดและความสนใจของตนเอง และได้ทำการระดมทรัพยากรภาครัฐและภาคเอกชนด้วยการกำหนดทิศทางความต้องการของแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MoU) กับสถานประกอบการกว่า 20 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพครูและผู้เรียนอาชีวศึกษา ตลอดจนส่งเสริมการเรียนในระบบทวิภาคี

โดยในปีการศึกษา 2560 มีนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษาแบบทวิภาคีทั้งสถานศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 7,985 คน นอกเหนือจากการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนแล้ว ศูนย์ประสานงานฯ จังหวัดฉะเชิงเทราได้ดำเนินงานควบคู่กันไปกับแผนการดำเนินงานระยะกลางและระยะยาวด้วย


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
25/8/2560