รมช.ศธ.”พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์” ลงพื้นที่ชลบุรี ตรวจเยี่ยมโครงการห้องปฏิบัติการทางภาษาอังกฤษเคลื่อนที่ “English Mobile Unit” ของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ที่จัดเตรียมสื่อ อุปกรณ์ ครูภาษาอังกฤษ ครูพิเศษ พร้อมหลักสูตรภาษาอังกฤษ เคลื่อนไปหานักศึกษาอาชีวะ ปวช./ปวส.ปีสุดท้ายใน 3 จังหวัดพื้นที่ EEC กว่า 1,500 คน เพื่อเตรียมความพร้อมทักษะภาษาอังกฤษสู่งานอาชีพ ก่อนออกไปทำงานจริง

เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษระยะสั้น ตามโครงการห้องปฏิบัติการทางภาษาอังกฤษเคลื่อนที่ “English Mobile Unit” โดยมีนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรือโทศตวรรษ อนันตกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ตลอดจนคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วม
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นสอดคล้องกับการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีขีดความความสามารถในการแข่งขันตามยุทธศาสตร์ชาติ จึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานหลักในพื้นที่ เร่งพัฒนาทักษะทางการสื่อสารภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียนก่อนจบการศึกษา เพื่อให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้จริงทั้งในการทำงานและชีวิตประจำวัน
โดยเพิ่มความเข้มข้นในการฝึกทักษะการสื่อสารด้วย “โครงการห้องปฏิบัติการทางภาษาเคลื่อนที่ English Mobile Unit” ที่จะเคลื่อนไปหานักเรียนนักศึกษากลุ่มเป้าหมาย ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ชั้นปีที่ 2 จำนวนกว่า 1,500 คน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี โดยวิทยาลัยเทคนิคบางแสน, จังหวัดระยอง โดยวิทยาลัยเทคนิคระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยวิทยาลัยการอาชีพบางปะกง ด้วยหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมความพร้อมสู่งานอาชีพในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (English for Career Preparation in the Eastern Economic Corridor) เป็นเวลา 30 ชั่วโมง ที่เน้นการพัฒนาและฝึกฝนทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน เพื่อการสื่อสาร การโต้ตอบ การสนทนาในชีวิตประจำวัน การเขียนใบสมัครงาน การแนะนำตนเอง การสัมภาษณ์งาน ตลอดจนการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ
ต้องยอมรับว่า แม้ในปัจจุบันเราจะสามารถเรียนรู้ได้ในหลากหลายวิธีผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่เชื่อว่า “ครู” ยังมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษ เพราะนอกจากจะถ่ายทอดความรู้แล้ว ยังเป็นรากฐานสำคัญต่อการสร้างความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์ สื่อสารสองทางได้พร้อม ๆ กับตอบข้อสงสัย หรือเติมเต็มนักเรียนเฉพาะเป็นรายบุคคล ซึ่งเชื่อว่าครูในสถานศึกษาเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ มีประสบการณ์ และความสามารถอยู่แล้ว ทั้งยังมีครูพิเศษอาชีวะ ที่เป็นอาสาสมัครจากภาคเอกชนที่มีความรู้ความสามารถในหลากหลายอาชีพ และเมื่อนำความเชี่ยวชาญในงานมาผสานกับการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ผู้เรียนมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่เกิดจากการทำงานจริงและใช้งานได้จริงในอนาคตด้วย
ในส่วนของการประเมินผลโครงการ จะดำเนินการภายหลังจบภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ทั้งจำนวนผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการตามเป้าหมาย การมีงานทำหลังจบการศึกษา ตลอดจนทักษะทางสื่อสารภาษาอังกฤษที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการพิจารณาปรับปรุง “ห้องปฏิบัติการทางภาษาอังกฤษ” ที่มีอยู่ในสถานศึกษาอาชีวศึกษาอยู่แล้ว เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ ตลอดจนครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ที่จะเป็นการสร้างเสริมทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษาอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกันควบคู่กันไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จากนั้นจะประเมินผลการดำเนินงานก่อนที่จะขยายการดำเนินงานในพื้นที่อื่นต่อไป
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวฝากถึงนักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการว่า ควรจะต้องแบ่งเวลาและบริหารเวลาการเรียนให้มีความสมดุลเหมาะสม ทั้งการเรียนตามหลักสูตรหลักและหลักสูตรระยะสั้นนี้ ซึ่งล้วนมีความจำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคตทั้งสิ้น รวมทั้งการฝึกทักษะการสื่อสารในภาษาที่ 3 และ 4 เพิ่มเติม อาทิ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาประเทศเพื่อนบ้านอื่น ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ด้วย
ขอแสดงความชื่นชมชาวอาชีวศึกษาทุกคน และขอให้มีความภาคภูมิใจร่วมกันสำหรับความมุ่งมั่นทุ่มเททำงาน ส่งผลให้การจัดการอาชีวศึกษามีความก้าวหน้าและมีผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์มากขึ้นโดยลำดับ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้เรียนที่สนใจมาเรียนอาชีวะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสียงชื่นชมและการยอมรับจากทุกภาคส่วนถึงความสามารถ ทักษะฝีมือ ความมีจิตอาสาของอาชีวะฝีมือชนคนสร้างชาติ ตลอดจนความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการ ที่นับวันจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น
โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาจังหวัดระยอง เป็นศูนย์ประสานงานหลักร่วมกับศูนย์ประสานงานย่อยอีก 3 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคน รวบรวมฐานข้อมูลความต้องการกำลังคน และการพัฒนาตามแผนงานในระดับต่าง ๆ เพื่อยกระดับประเทศสู่เป้าหมายการเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน
















Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว