Google for Education

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์” เปิดอบรมเชิงปฏิบัติการ “พลิกโฉมและยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยี Google for Education” จัดโดย Google ประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ หวังยกระดับการศึกษาไทยแบบพลิกโฉม ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและแอพพลิเคชั่น “G-Suite for Education” ให้บริการไม่จำกัดพื้นที่ฟรี เพื่อจัดเก็บข้อมูลสำหรับสถานศึกษาทั่วประเทศไทย พร้อมสนับสนุนการอบรมพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเสริมสมรรถนะการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต่อยอดสู่การสร้างชุมชนครูเพื่อการเรียนรู้เทคโนโลยี เริ่มต้นโครงการในโรงเรียนประถม-มัธยมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 705 โรงเรียน ก่อนขยายผลต่อไป

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2561 ณ หอประชุมแหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “พลิกโฉมและยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยี Google for Education” รุ่นที่ 1 ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีผู้บริหารเข้าร่วมพิธีเปิด อาทิ พล.ต.ต.ธัมมศักดิ์ วาสะศิริ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, น.ส.ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายเรวัฒน์ เพ็ชรสงฆ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าอบรม

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า การทำให้ประเทศไทยเป็น 4.0 ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับนวัตกรรม ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้นำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้ง DLTV, DLIT, TEPEOnline ประกอบกับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ แบบบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งแผนบูรณาการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่มาของการประกาศนโยบายให้ “ปี 2561 เป็นปีแห่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม” โดยศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ถือเป็นอีกโครงการที่มีคุณค่าในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและแอพพลิเคชั่นเพื่อการศึกษา (G-Suite for Education) มาประยุกต์ใช้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างบูรณาการ​ โดยมีวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านวิชาการและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อความเข้าใจในหลักการ และการนำไปใช้บริหารงานของผู้อำนวยการโรงเรียน การพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาแนวคิดในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งเชื่อมโยงไปสู่การสอบ การวัด และประเมินผลในอนาคต

ดังนั้น การจะใช้คำว่า “พลิกโฉม” คงไม่เกินเลยจากความเป็นจริง เพราะผลสัมฤทธิ์มาจากการที่ทุกคนและทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเกิดเป็นภาพความสำเร็จแล้วในหลายส่วน  โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประเทศไทย 4.0 ขึ้นได้ พัฒนาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เทคโนโลยี ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ระบบ ควบคู่ไปกับการดำเนินการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องของจังหวัดปัตตานี ตามมติคณะกรรมการซุปเปอร์บอร์ด ที่ให้นำร่องเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาครบ 6 ภาคๆ ละ 1 จังหวัดทั่วประเทศ คือ ภาคใต้ ที่สตูล, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ศรีสะเกษ, ภาคตะวันออก ที่ระยอง, ภาคเหนือ ที่เชียงใหม่, ภาคกลาง ที่กาญจนบุรี และภาคใต้ชายแดน ที่ปัตตานี เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนากำลังคน จบแล้วมีรายได้ มีงานทำ

นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเข้มแข็ง ผลการประเมินจึงมีผลในทางที่ดี ประชาชนเกิดความพึงพอใจ และต้องการให้การศึกษาเกิดคุณภาพอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง สร้างโอกาสทางการศึกษา เช่น ทุนการศึกษา การดูแลผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ 64 แห่ง แบบอยู่ประจำ โดยสนับสนุนทั้งในเรื่องการเรียน อาหาร และที่พัก และอีก 4 สถานศึกษาสังกัดอาชีวะ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ก็คือ “นวัตกรรมทางการศึกษา” เมื่อรวมกับ “เทคโนโลยีสารสนเทศ” แล้ว ก็คือการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0

โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ได้กล่าวน้อมนำพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มาถ่ายทอดแก่ผู้เข้ารับการอบรมทุกคน ความว่า “งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ดังนั้น จึงต้อง จัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 12 ธันวาคม 2512) และพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง, การสร้างลักษณะพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณธรรม, เรียนแล้วมีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง

นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว ผู้จัดการฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท กูเกิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า Google ต้องการสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการเพื่อยกระดับการศึกษาไทยแบบพลิกโฉม ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และแอพพลิเคชั่นเพื่อการศึกษา (G-Suite for Education) มาประยุกต์ใช้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างบูรณาการ​ พร้อมสนับสนุนการอบรมพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเสริมสมรรถนะการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต่อยอดสู่การสร้างชุมชนครูเพื่อการเรียนรู้เทคโนโลยี โดยกลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้คือ โรงเรียนระดับประถมฯ และมัธยมฯ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 705 โรงเรียน พร้อมสนับสนุนขยายผลครอบคลุมทุกโรงเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

“Google พร้อมจะสนับสนุนแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ซึ่งให้บริการที่ไม่จำกัดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศไทยฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และสนับสนุนการอบรมให้ความรู้พัฒนาบุคคลกรในจังหวัดชายแดนใต้ โดยระยะเวลาของเริ่มต้นโครงการ เริ่มตั้งแต่กันยายน 2561 – มีนาคม 2562 ซึ่งทีมงานของ Google จะให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางเทคโนโลยีเบื้องต้น จัดหาผู้เชี่ยวชาญในการฝึกอบรม จัดข้อมูลการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อการศึกษาออนไลน์เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถศึกษาการใช้ Google Apps for Education ด้วยตนเองทางออนไลน์ (www.google.com/edu/) รวมทั้งบน Google+ อีกทั้งจะสนับสนุนชุมชนครู Google Educator Group ให้สามารถขยายผลกันเองได้ เพื่อความยั่งยืน” นายจิระวัฒน์ กล่าว


Written by นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit ปกรณ์ เรืองยิ่ง
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร