International Literacy Day 2018

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2561 (International Literacy Day 2018) เมื่อวันเสาร์ ที่ 8 กันยายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานว่า ในวันที่ 8 กันยายนของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญที่ยูเนสโกได้ประกาศให้เป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา โดยในปีนี้กำหนดแนวคิดหลัก “การรู้หนังสือและการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21” เพื่อมุ่งพัฒนาการรู้หนังสือตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ระดับที่สูงขึ้น ด้วยทักษะการรู้เท่าทันสื่อบนฐานการคิดวิเคราะห์เป็น และนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ตลอดจนพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและอาชีพที่สอดคล้องกับสังคมในยุคปัจจุบัน

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) กำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้อำนวยการยูเนสโก สำนักงานส่วนภูมิภาค กรุงเทพฯ คณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ  คณะกรรมการ กศน. ภาคีเครือข่าย ผู้บริหาร ข้าราชการ ครู และบุคลากร กศน. กว่า 1,400 คน

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้อ่านสาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาส “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2561 วันที่ 8 กันยายน 2561

โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวแสดงความชื่นชมการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นภาพการทำงานด้วยความตั้งใจและความเข้มแข็งร่วมกันของชาวกระทรวงศึกษาธิการ และ กศน. เสมือนเป็นเพื่อนรักร่วมทำงาน ร่วมชีวิต ร่วมกันสร้างความเจริญให้กับประเทศไทยในทุกพื้นที่ ซึ่ง “การศึกษา” เป็นกระบวนการสำหรับพัฒนาคนโดยอาศัยหนังสือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพอย่างสำคัญ ส่วน “การรู้หนังสือ” จะมีส่วนทำให้มีปัญญากว้างขวาง คิดกว้าง มองไกล มีวิสัยทัศน์ ตลอดจนมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักใช้เหตุใช้ผล และใช้ทักษะด้านต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ต่อสังคม และประเทศชาติโดยรวม

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประชากรทุกช่วงวัยเป็นอย่างยิ่ง โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมกำหนดให้มีการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัย ให้เป็นคนเก่ง คนดี มีคุณภาพ มีหลักคิดที่ถูกต้อง ตลอดจนมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน กศน. เป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการที่ทำงานบูรณาการร่วมกับทุกองค์กรหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต, การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, การส่งเสริมศูนย์ กศน.ตำบล ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ตลอดจนศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้หลักประชาธิปไตย ไทยนิยม ยั่งยืน และศูนย์ดิจิทัลชุมชน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกผลงานสำคัญของสำนักงาน กศน. และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุด กล่าวคือ การที่สามารถนำประชากรวัยเรียนอายุ 3 ขวบ ถึง 18 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา ให้กลับเข้ามารับการศึกษาได้มากขึ้น กว่าห้วงที่ผ่านมาอย่างเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ การดำเนินงานตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สามารถนำประชากรวัยเรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ กว่าร้อยละ 60 ของเด็กที่อยู่นอกระบบทั้งหมด (45,000 คน) ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำนักงานยูเนสโกรับทราบแล้ว พร้อมได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานหลายประการ

ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลงานของ สำนักงาน กศน. จึงมอบให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลต้นแบบการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ พร้อมมีระบบติดตามการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง และมั่นใจว่าในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2561 จะสามารถนำประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษากลับเข้าระบบการศึกษาได้มากยิ่งขึ้นโดยลำดับ จนมีความสมบูรณ์มากที่สุด หรือทั้ง 100% ได้ในอนาคตอันใกล้นี้

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลงานความภาคภูมิใจ และมีความเกี่ยวข้องกับการรู้หนังสือ ที่เกิดจากการทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงขอชื่นชมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน โดยเฉพาะบุคลากร กศน. ที่ดำเนินงานและปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ที่มีส่วนร่วมในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ ตลอดจนร่วมจัดงานในครั้งนี้ ในวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิดการรู้หนังสือและพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมกันสานพลังขับเคลื่อนการส่งเสริมการรู้หนังสือของประชาชน เพื่อสร้างสังคมไทยแห่งการเรียนรู้ สร้างสรรค์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป

ในโอกาสที่ได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ กศน. ประจำปี 2561 และเข็มเชิดชูเกียรติ ครู กศน. รวม 1,174 รางวัล ก็ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับทุกคนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ พร้อมขอให้ดำรงไว้ซึ่งเกียรติประวัติและการทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของชาว กศน. และกระทรวงศึกษาธิการตลอดไป

นายชิเกรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการยูเนสโก สำนักงานส่วนภูมิภาค กรุงเทพฯ ได้อ่านสาร ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก เนื่องในโอกาส “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2561 วันที่ 8 กันยายน 2561 ความว่า

“เฟรเดอริค ดักลาส (Frederick Douglass) ทาสชาวแอฟริกัน – อเมริกัน ผู้เป็นอิสระจากอิทธิพลอันเลวร้าย นักต่อสู้การเลิกทาส และนักประพันธ์ได้เขียนข้อความตอนหนึ่งไว้ในศตวรรษที่ 19 ว่า “ทันทีที่คุณเรียนรู้ที่จะอ่าน คุณก็จะเป็นอิสระตราบนิรันดร์” นี่คือการเรียกร้องการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสโดยการอ่าน และตามขอบข่ายสากลทั่วไป นั่นคือการให้ความสำคัญกับทักษะพื้นฐาน อันได้แก่ การรู้หนังสือ และการคิดคำนวณเป็น

การรู้หนังสือ คือ ก้าวแรกสู่ความเป็นอิสระ มุ่งสู่การปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ที่จะลดความยากจน ความไม่เท่าเทียม สร้างความมั่งคั่ง และช่วยขจัดปัญหาทางโภชนาการ และสาธารณสุขให้หมดไป นับตั้งแต่ช่วงชีวิตของเฟรเดอริค ดักลาส โดยเฉพาะในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นมากมายในทุกภูมิภาคของโลก มีบุรุษและสตรีหลายล้านคน ที่หลุดพ้นจากความไม่รู้และภาวะพึ่งพิง โดยมีการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางในเรื่องการรู้หนังสือและความเป็นประชาธิปไตยในการเข้าถึงการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของโลกที่ทุกคนพึงมีความรู้พื้นฐาน ยังคงเป็นอุดมคติเช่นเคย ปัจจุบัน มีเด็กและเยาวชนมากกว่า 260 ล้านคนทั่วโลก ที่ไม่ได้สมัครเข้าเรียนในโรงเรียน เด็กและเยาวชน 6 คน จาก 10 คน หรือประมาณ 617 ล้านคน ไม่ได้รับทักษะขั้นต่ำในเรื่องการรู้หนังสือและการคิดคำนวณ ประชาชนวัยหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ จำนวน 750 ล้านคน ยังคงไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ และ 2 ใน 3 ของจำนวนดังกล่าว เป็นสตรี จุดอ่อนที่ทำให้เกิดความอ่อนแอเหล่านี้ ย่อมนำไปสู่การแยกตัวออกจากสังคม และทำให้เกลียวแห่งความไม่เท่าเทียมทางสังคม และความไม่เท่าเทียมทางเพศ ยังคงดำเนินอยู่อย่างถาวร

ความท้าทายใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นต่อโลกใบนี้ คือ การทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเพื่อที่จะหาโอกาสในสังคม การที่จะได้งานทำ และตอบสนองต่อความท้าทายทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทักษะการรู้หนังสือและคิดคำนวณแบบเดิม ๆ จึงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ทักษะใหม่ ๆ ที่รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกลายเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ การเตรียมคนหนุ่มสาวและผู้ใหญ่เพื่อการมีงานทำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังไม่มีทักษะดังกล่าว จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ดังนั้น การเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต การได้ประโยชน์จากแนวทางการฝึกอบรมในรูปแบบต่าง ๆ และการได้รับโอกาสที่มากขึ้น เพื่อการเตรียมการดังกล่าว จึงเป็นสิ่งจำเป็น

แนวคิดหลักของ “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ในปีนี้ คือ “การพัฒนาการรู้หนังสือและทักษะต่าง ๆ” ที่มุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาการศึกษา ยูเนสโกกำลังเร่งกำหนดนโยบายการรู้หนังสือตามแนวคิดใหม่ และส่งเสริมการปฏิบัติทางการศึกษาเชิงนวัตกรรม อีกทั้งส่งเสริมความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน เนื่องจากการทำความเข้าใจสาเหตุของการศึกษาที่ครอบคลุมเท่านั้น จึงจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของโลกได้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ การศึกษาจะต้องปฏิรูปตัวเองทุกวัน

ในโอกาสวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือนี้ ดิฉันขอเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งปวงในโลกของการศึกษาและอื่น ๆ เพราะเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน ร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อให้อุดมคติของสังคมโลกด้านการรู้หนังสือ มีความเป็นจริงมากขึ้นอย่างแท้จริง” ออเดรย์ อาซูเลย์

นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. กล่าวเพิ่มเติมถึงความร่วมมือของสำนักงาน กศน. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการรู้หนังสือของคนไทยด้วยว่า สำนักงาน กศน.ถือเป็นองค์กรหลักที่ทำงานด้านการส่งเสริมการรู้หนังสือของประชาชนมาอย่างยาวนาน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เดินก้าวข้ามไปสู่การเรียนรู้ที่หลากหลาย พร้อมเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 แก่ประชาชน ทั้งทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม, ทักษะสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี, ทักษะชีวิตและอาชีพ โดยมีทักษะการเรียนรู้ เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ จนเกิดเป็นสมรรถนะ “มนุษย์ยุคใหม่” ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ สำนักงาน กศน. ได้ร่วมมือกับยูเนสโก เพื่อพัฒนาแนวทางและวิธีการ ตลอดจนเนื้อหาสาระ สำหรับจัดทำคู่มือการเรียนรู้หนังสือ เพื่อให้ครู กศน.ตำบล นำไปใช้ในสอนให้กับประชาชน โดยสอดแทรกการรู้หนังสือไปในวิถีชีวิตประจำวัน รวมทั้งนำไปไว้ในห้องสมุดเคลื่อนที่ เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ด้วยตนเองด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องการพัฒนาให้ประชาชนมีทักษะดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือในการหาความรู้ พัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนเสริมสร้างทักษะการรู้หนังสือ ทั้งการอ่านการเขียน ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีหรือทักษะดิจิทัล มาเชื่อมโยงกับทักษะการรู้หนังสือ เพื่อให้มีแนวทางและวิธีการช่วยสร้างทักษะอย่างต่อเนื่อง และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต


Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo by ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร