MOU วิจัยเพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ของเด็กเยาวชนและครูไทยในศตวรรษที่ 21 ของ 4 หน่วยงานหลักคือ สพฐ.–สสวท.-สสค.-มูลนิธิยุวสถิรคุณ เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), นางณัฏฐา มูนจินดา ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการมูลนิธิยุวสถิรคุณ และ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เข้าร่วมพิธีลงนาม

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่า จากผลการสำรวจความต้องการแรงงานของนายจ้างและองค์กรเกิดใหม่ในปี 2557 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment: PISA) พบว่านายจ้างขององค์กรในศตวรรษที่ 21 คาดหวังให้พนักงานในองค์กรมีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มากที่สุด
นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ McKinsey พบว่าภาคธุรกิจกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนผู้ที่มีทักษะต่างๆ ในการทำงาน รวมทั้งเยาวชนถึงร้อยละ 79 มีความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกเตรียมความพร้อมในการทำงานภายหลังจบการศึกษา ทำให้ OECD มีแผนงานที่จะวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ให้กับนักเรียนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 และเตรียมความพร้อมด้านการทำงานให้กับแรงงานในอนาคตด้วย
ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งใน 70 ประเทศที่เข้าร่วมการทดสอบ PISA และเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้กับครูและนักเรียน ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ในชั้นเรียน
โดย สสค.จะเป็นผู้ประสานงานหลักของไทยในการเข้าร่วมโครงการวิจัยของ OECD ร่วมกับประเทศสมาชิกและประเทศภาคีของ OECD ซึ่งจะมีระยะเวลาดำเนินโครงการวิจัย 3 ปี (2558-2560) แบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ช่วง แต่ละช่วงมีระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน เริ่มจากการวิจัยช่วงที่ 1 (พฤศจิกายน 2558-มิถุนายน 2559) ภายหลังเสร็จสิ้นการวิจัยช่วงที่ 1 ทาง OECD จะนำผลการวิจัยไปวิเคราะห์ และนำมาขยายผลสู่การดำเนินงานระยะที่ 2 ต่อไป (ปีการศึกษา 2559-2560)
ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก 4 องค์กรหลัก ได้แก่
1) สพฐ. ในการสนับสนุนด้านนโยบายเชิงวิชาการและงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. สำเร็จลุล่วง และสามารถขยายผลการดำเนินงานต่อได้ในอนาคต
2) สสวท. ให้การสนับสนุนด้านนโยบายเชิงวิชาการสำหรับการพัฒนาเครื่องมือการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศและงบประมาณ
3) สสค. ทำหน้าที่ประสานงานและบริหารโครงการวิจัยร่วมกับ OECD และหน่วยงานภาคี และรับผิดชอบงบประมาณโครงการวิจัยในระยะที่ 1 ช่วงระหว่างปี 2558-2559
4) มูลนิธิยุวสถิรคุณ สนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณในการดำเนินโครงการวิจัยในระยะที่ 2 ช่วงระหว่างปี 2559-2560 รวมทั้งสนับสนุนการสังเคราะห์ ถอดบทเรียน และการวิจัยต่อยอด เพื่อนำเครื่องมือไปใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของไทยมากที่สุด

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันนี้ได้รับความร่วมมือจาก 4 องค์กรสำคัญซึ่งมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการคิดวิเคราะห์ของเด็กนักเรียนไทยอย่างยิ่ง
โครงการวิจัยของ OECD นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนและเครื่องมือประเมินหรือวัดผลเด็กนักเรียน โดยเน้น 2 ทักษะ คือการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์
โดยผลการวิจัยจะนำไปปรับปรุงข้อสอบ PISA ซึ่งเด็กไทยจะได้เตรียมความพร้อมสำหรับการสอบ PISA อีกทั้งโครงการวิจัยดังกล่าวยังทำให้เด็กไทยมีการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ไปในตัว เนื่องจากได้เข้าร่วมโครงการที่มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่มีวิธีการและระบบการดำเนินงานที่มีมาตรฐาน และกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินงานส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กนักเรียนไปพร้อมกันด้วย เพราะในท้ายที่สุดเราต้องพัฒนาระบบการประเมินให้พึ่งตัวเองได้ เราไม่สามารถพึ่ง OECD ไปได้ตลอด
สำหรับทักษะในศตวรรษที่ 21 นั้น เป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทางกระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของทักษะดังกล่าว อันประกอบด้วยการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking), การสื่อสาร (Communication), การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration), ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จึงมีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาให้เด็กนักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์และเป็นเด็กมีความคิดมีเหตุมีผล ซึ่งสอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ดังกล่าว
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ครูผู้เปรียบเสมือน Core Trainers ที่จะทำการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์และมีความคิดสร้างสรรค์ จะต้องเข้ารับการทดสอบเรื่องการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ด้วย เพราะครูที่จะสอนให้เด็กคิดเป็น จะต้องคิดเป็นก่อนจึงจะสอนเด็กให้คิดเป็นได้ โดยครูจะต้องได้รับการทดสอบด้วยการใช้เครื่องมือเดียวกับเด็กนักเรียน และจำเป็นต้องสอบให้ผ่านถึงจะนำเครื่องมือดังกล่าวไปสอนเด็กได้
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
25/12/2558