Partnership School

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) มหาสารคาม เขต 3, สพป.ร้อยเอ็ด เขต 2 และ สพป.ขอนแก่น เขต 5 เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2561 ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวมีบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้การสนับสนุน โดยมีผู้บริหารที่ร่วมตรวจเยี่ยมครั้งนี้ เช่น นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ฯลฯ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า การดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ในโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนชุมชนโพนงามโพนสวาง จ.มหาสารคาม โรงเรียนร่องคำหงษ์ทองวิทยา จ.ร้อยเอ็ด และโรงเรียนโนนสะอาดพิทยา จ.ขอนแก่น ได้รับความร่วมมือจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในการร่วมยกระดับการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ให้รัฐเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….. ในการทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงจัดโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มาร่วมพัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ พัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตของชุมชน ที่เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ ปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นถ่ายทอดสู่เด็กและเยาวชน

นอกจากนี้ ศธ. มีเป้าหมายที่จะนำส่วนดีของภาคเอกชน คือ ความคล่องตัวและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาช่วยพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียน พร้อมส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนการสอนเพื่อบ่มเพาะเด็กและเยาวชนจากการปฏิบัติจริง ตลอดจนสามารถคิดที่จะสร้างนวัตกรรมได้ โดยนักเรียนทุกระดับสามารถทำได้ และไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งใหญ่ ๆ หรือมีราคาแพง แต่ขอให้เน้นวิถีชีวิตและความต้องการของโรงเรียน และชุมชน เพื่อทำให้คนมีความสุข มีชีวิตที่ดีขึ้น และอาจพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ทั้งในชุมชนและตลอดภายนอกได้ในอนาคต

ส่วนการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ปีการศึกษา 2562 มีแนวคิดที่จะขยายโครงการไปยังโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ อีก 100 แห่ง เพื่อไปสู่เป้าหมายการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าต้องการขยายในโรงเรียนที่มีความพร้อม และผู้บริหารมีความเข้าใจในหลักการของโครงการจริง ๆ เพื่อต่อยอดต้นแบบที่ดีของโรงเรียน 50 แห่งในระยะแรกแล้ว โรงเรียนสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันที่จะช่วยปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการเป็น “โรงเรียนร่วมพัฒนา” ต่อไป

นายชนินทร์ ว่องกุศลกิจ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดการทำงานร่วมกับโรงเรียนทั้ง 3 แห่งเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะการอ่านออกเขียนได้ การใช้สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา และภาษาอังกฤษ เพื่อสามารถค้นคว้าหาความรู้และสื่อสารได้ ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าโดยลำดับตามบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ภายใต้การช่วยกันทำงานทั้งครู ผู้บริหาร ชุมชน และผู้ปกครอง จึงมีกำลังใจอย่างมากที่จะให้การสนับสนุนและร่วมจัดการศึกษาร่วมกันต่อไป โดยหวังว่า ศธ.จะคงโครงการไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมผลิตกำลังคนและยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป

นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ มีสัมมาชีพ และมีทักษะที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะร่วมสร้างความเจริญงอกงาม ทั้งนี้ ขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่พัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยดึงภาคเอกชนมาร่วมสนับสนุนและยกระดับโรงเรียนให้มีคุณภาพ จนประสบความสำเร็จในครั้งนี้


โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ
ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ
และการจัดการเรียนการสอนทั้ง 3 โรงเรียน

1) โรงเรียนชุมชนโพนงามโพนสวาง สังกัด สพป.มหาสารคาม เขต 3  นายประชา แสนเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รายงานผลจัดการศึกษาและความสำเร็จของโรงเรียน อาทิ การจัดการเรียนการสอนตามแนวทางสาธิตจุฬา ที่ช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ O-Net ภาพรวมสูงขึ้น 2.34, โรงเรียนวิธีปฏิบัติที่ดี ค่านิยมหลัก 12 ประการ (ความกตัญญู), การประดิษฐ์งานใบตองดอกไม้สด ซึ่งสร้างทักษะและรายได้แก่นักเรียน พร้อมได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับเขตพื้นที่การศึกษาปี 2559-2561 รางวัลเหรียญทองระดับภาค งานศิลปหัตถกรรม, โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง น้ำยาเช็ดกระจกไร้สารเคมี เป็นต้น

 

2) โรงเรียนร่องคำหงษ์ทองวิทยา สังกัด สพป.ร้อยเอ็ด เขต 2  นายมงคล น้อยอามาตย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รายงานผลจัดการศึกษาและความสำเร็จของโรงเรียน  อาทิ การพัฒนาครูให้ใช้สื่อ ICT ด้านการศึกษา, การพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษด้วยสื่อ ICT, ผลิตสื่อพัฒนาทักษะการอ่านเขียน, กานปลูกกล้วย พร้อมขยายพันธุ์และแปรรูป, การปลูกผักและทำน้ำหมักจุลินทรีย์ เป็นต้น

 

3) โรงเรียนโนนสะอาดพิทยา สังกัด สพป.ขอนแก่น เขต 5  นายเอกศักดิ์ จันทะกา ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รายงานผลจัดการศึกษาและความสำเร็จของโรงเรียน  อาทิ การเรียนภาษาอังกฤษจากการทดลองวิทยาศาสตร์, การจักรสาน, การบริการตัดผมและนวดกดจุด, คีตะมวยไทย, การประกอบธุรกิจ ช้างน้อยมินิมาร์ท ในรูปแบบสหกรณ์ร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น


Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร