ปาฐกถา “Public-Private Partnership in Health Industry and Education“
โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Public-Private Partnership in Health Industry and Education เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2559

รมช.ศึกษาธิการ บรรยายตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากมีบุคลากรในสังกัดจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับกระทรวงศึกษาธิการมีทั้งบุคลากรที่เป็นข้าราชการพลเรือนและข้าราชการครู ซึ่งหน้าที่บางอย่างยังคาบเกี่ยวกัน เช่น ครูใหญ่หรือผู้อำนวยการสถานศึกษาไม่ได้ทำหน้าที่ของครู เพราะไม่ได้เข้าสอนในชั้นเรียนเหมือนครูประจำรายวิชา เป็นต้น แต่ละคนต่างรู้บทบาทและหน้าที่ของตนเอง
ในส่วนของการส่งเสริมหลักสูตรที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นนั้น ขณะนี้ได้มีการทบทวนเกี่ยวกับการรับรองปริญญาว่า เมื่อสภาสถาบันอุดมศึกษาอนุมัติหลักสูตรแล้ว ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้ทันที โดยเพียงแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบเท่านั้น แต่ไม่ต้องรอการพิจารณารับรองหลักสูตรจาก สกอ. ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และสิ่งที่ดีงามในประเทศ เพราะจะทำให้การบริหารงานต่าง ๆ ของสถาบันอุดมศึกษามีอิสระมากขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทด้านการศึกษา โดยนวัตกรรมที่แท้จริงคือสิ่งที่คิดค้นขึ้นใหม่และไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการจัดทำตำราเรียนที่มีคุณภาพ เนื่องจากการอ่านหนังสือจากตำราให้คุณค่าต่างจากการอ่านหนังจากอุปกรณ์ดิจิทัล อีกทั้งจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบการพัฒนาการศึกษา 3 ประการ คือ การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ การมีการแข่งขันอย่างเสรี และมีระบบการเงินการคลังที่มั่นคง

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน STEM Education อย่างไรก็ตามก่อนที่จะดำเนินการเรื่อง STEM เราควรมีสติก่อน เพราะเราต้องรู้ว่า STEM คืออะไร เพื่อที่จะพัฒนาการศึกษาได้อย่างถูกต้อง
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
3/6/2559