มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “THAMMASAT Gen Next Education 2018” เปิดตัวแนวทางปรับตัวรองรับเทรนด์การศึกษาและผู้เรียนในศตวรรษหน้า พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนคนไทย โดยได้รับเกียรติจาก ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาเรื่อง “High Education and It’s Role in Education Landscape” เมื่อวันพุธที่ 29 สิงหาคม 2561 ณ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถานศึกษาโดยรอบ ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่นวัตกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนร่วมสัมผัสประสบการณ์และบรรยากาศเสมือนจริงในการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน ดังวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ว่า “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อสังคมไทยและนานาชาติ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานและนวัตกรรมการเรียนการสอนสำหรับผู้นำยุคใหม่ หรือ Next Generation Leader ให้อาจารย์ได้นำเทคโนโลยีด้านการเรียนการสอนไปประยุกต์ใช้ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ระบบ e-Learning แก่ชาวธรรมศาสตร์และสาธารณชน
ชาวธรรมศาสตร์มีความรู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติจาก รมช.ศึกษาธิการ ในการเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ พร้อมยังได้รับชมการนำเสนอแนวคิดปรับปรุงการจัดการศึกษารองรับสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน การเพิ่มวิชาและหลักสูตรใหม่ ๆ สำหรับประชาชนคนไทยได้เข้ามารับการพัฒนาและฝึกอบรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งใบปริญญาถือว่ามีความสำคัญน้อยกว่า การได้รับความรู้และการเข้าสู่ระบบการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
ขอขอบคุณ รมช.ศึกษาธิการ ที่ให้ความสนใจรับชมรับฟังแนวคิดต่าง ๆ พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษาตามเทรนด์ใหม่ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความพร้อมพัฒนาเยาวชนและคนไทยอย่างเต็มกำลังต่อไปเช่นกัน
นับได้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินมาถูกทางแล้ว ในการนำเทคโนโลยีมาผสานกับการจัดการศึกษาเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนใน Generation Z ซึ่งมีความถนัดที่จะสื่อสารผ่านเทคโนโลยี เป็นคนกลุ่มใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต และมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในจุดนั้นให้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีจิตสาธารณะ มีความเป็นผู้ประกอบการในตัว และต้องการเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น โดยช่องทางสื่อสารที่เหมาะสมกับเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นสื่อออนไลน์ ทั้ง e-Mail, Blog, Social Media ในลักษณะเนื้อหาสั้นกระชับ และเป็นเรื่องเฉพาะระดับบุคคลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นต้น
ในส่วนของการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาฝึกอบรมเพื่อทบทวนความรู้เดิม หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ในรูปแบบการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ถือเป็นการพลิกโฉมการเรียนรู้และสอดคล้องกับนโยบายการอุดมศึกษา ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยปรับตัวเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย เป็นการแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงการเป็นผู้นำความก้าวหน้า และเป็นต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษา พร้อมปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประการสำคัญคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งความรู้และข้อมูลต่าง ๆ มากมาย ที่นอกจากเด็กเยาวชน และประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม งานวิจัย และนวัตกรรมสมัยใหม่ด้วย
Photo Credit
Editor