TVET Career Center
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานประชุมสรุปผลการดำเนินงาน ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ TVET Career Center (Technical and Vocational Education and Training Career Center) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี
กระทรวงศึกษาธิการ จึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) พร้อมเริ่มต้นจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC TVET Career Center) เป็นแห่งแรก และศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (SEC TVET Career Center) แห่งที่สอง จากนั้นจึงนำมาเป็นต้นแบบแนวทางในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในอีก 4 ภาคที่เหลือ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์ครบทั้ง 6 ภาคเรียบร้อยแล้ว
นับเป็นเวลากว่า 1 ปี ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (
1. ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC TVET Career Center)
ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคบางแสน จ.ชลบุรี และมีศูนย์ระดับจังหวัด 3 แห่ง ที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
– ฝ่ายข้อมูล: ได้ผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรปริญญาตรี ที่จะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 รวม 52,142 คน ซึ่งในจำนวนนี้จะเข้าทำงานในบริษัทเอกชน 23,406 คน (ร้อยละ 44.88) โดยเป็นผู้จบหลักสูตร ปวช. ที่เข้าทำงานในบริษัทเอกชนมากที่สุด ร้อยละ 39.69 ของจำนวนผู้ที่เข้าทำงานในบริษัทเอกชนทั้งหมด นอกจากนี้ได้จัดฝึกอบรม Big Data System ให้กับสถานประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 38,857 แห่ง พร้อมจะเร่งประชาสัมพันธ์ไปยังสถานประกอบการเพื่อให้มีส่วนร่วมมากขึ้นผ่านเครือข่าย HR และขยายผลในสถานศึกษาด้วย
– ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ: ส่งเสริมผู้เรียนและประชาชนเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือและฝึกอบรมโครงการต่าง ๆ อาทิ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 9,674 คน, ทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติด้านอาชีวศึกษา 32,108 คน, สอบมาตรฐานวิชาชีพ 34,108 คน, โครงการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นฐานสมรรถนะ (E to E) 5,933 คน, โครงการฝึกอบรมทักษะอาชีพให้ประชาชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับสำนักงาน กศน.จังหวัด 4,030 คน เป็นต้น
– ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ: นอกจากจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดีแล้ว ยังได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรในหลายส่วนด้วย ได้แก่ เงินสนับสนุนภาคเอกชน 35 ล้านบาท, เครื่องจักรและอุปกรณ์ ทั้งในด้านไฟฟ้ายานยนต์ คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์เชื่อม Robot ครุภัณฑ์ PLC เตาอบ, ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นครูฝึกในสถานประกอบการ 732 คน ครูฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการ 258 คน ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้านและครูภูมิปัญญา 240 คน และองค์กรนิติบุคคลที่มีความร่วมมือเพื่อจัดการศึกษา 873 แห่ง
– ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ: ได้มีการพัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) แบบที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย (Brain-Based Learning) แบบบูรณาการกับการทำงาน (Work-Integrated Learning) แบบ STEM Education และแบบใช้นวัตกรรม ตลอดจนวิธีการการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructionism) ภายใต้โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี (Vocational Chemical Engineering Practice College: V-ChEPC) และการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจนครบหลักสูตร นอกจากนี้ จะรักษาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการเรียนใน 5 สาขาที่เป็นที่นิยม ทั้งคอมพิวเตอร์ ไฟฟ้า บัญชี ยานยนต์ และเครื่องมือกล ในขณะเดียวกันก็เร่งส่งเสริมให้มีผู้มาเรียนในสาขาที่มีความนิยมน้อย ได้แก่ ช่างกลเกษตร โลหะการ เทคโนโลยีแฟชั่นและสิ่งทอ การตรวจสอบโดยไม่ทำลาย และอุตสาหกรรมการเกษตร รวมทั้งจะทยอยเปิดสาขาที่เป็นความต้องการเพิ่มเติม คือ หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ดิจิทัล และเชื้อเพลิงชีวภาพ
– ฝ่ายวิจัยและพัฒนา: ได้ดำเนินการในหลายส่วน ได้แก่ ศึกษาวิจัยในชั้นเรียน รวม 2,692 ผลงาน, รายงานผลการวิจัย (ว-สอศ-3) แก่สำนักวิจัยแห่งชาติ 48 เรื่อง, วิจัยสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัด 112 เรื่อง ระดับภาค 31 เรื่อง และระดับชาติ 11 ผลงาน, ผลิตหุ่นยนต์ได้รับรางวัลผลงานระดับชาติ 2 ผลงาน ตลอดจนจับคู่ Job Matching 116 ผลงาน อยู่ในระหว่างการเจรจาตกลง 24 ผลงาน
2. ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (SEC TVET Career Center)
ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี และศูนย์ย่อย 2 แห่ง ที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
– ฝ่ายข้อมูล: ได้ผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ที่จะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 รวม 8,617 คน (เป็นผู้จบหลักสูตรระยะสั้นมากที่สุด 5,555 คน หรือร้อยละ 64.46) ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้จบหลักสูตร ปวช. ปวส. และปริญญาตรี รวม 3,062 คน โดยเข้าทำงานในบริษัทเอกชน 832 คน และประกอบอาชีพตนเอง 270 คน นอกจากนี้ได้จัดฝึกอบรมระบบ Big Data System ให้กับสถานประกอบการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 105 แห่ง
– ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ: ส่งเสริมผู้เรียนเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือและฝึกอบรมโครงการต่าง ๆ อาทิ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 307 คน, ทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติด้านอาชีวศึกษา 1,004 คน, สอบมาตรฐานวิชาชีพ 3,016 คน, การแข่งขันทักษะวิชาชีพ จำนวนนักเรียน 90 คน, โครงการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นฐานสมรรถนะ (E to E) 4,476 คน และโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ 2,460 คน
– ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ: โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ทุนการศึกษาจากภาครัฐและภาคเอกชน 368 ทุน, เครื่องจักรอุปกรณ์ ทั้งเครื่องยนต์ คอมพิวเตอร์ ระบบไฟฟ้าโซล่าเซลล์ อุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์, ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งทีวีดิจิทัล ปรึกษาและคณะกรรมการควบคุมงานและตรวจงานก่อสร้าง ครูฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการ ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้านและองค์กรภายนอก อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด
– ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ: ได้มีการพัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) แบบการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) และแบบชิ้นงานและโครงการ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจนครบหลักสูตร โดยมีแผนที่จะปรับปรุงหลักสูตรในสาขาต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ ไฟฟ้ากำลัง อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์ แมคคาทรอนิกส์ อาหารและโภชนาการ (อาหารฮาลาล)
– ฝ่ายวิจัยและพัฒนา: ได้ดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน ตลอดจนศึกษาผลิตภัณฑ์การแปรรูปอาหารและการใช้วัสดุในท้องถิ่นเพื่อสร้างอาชีพ และสำรวจความต้องการกำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่
3. ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC TVET Career Center)
ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด และมีศูนย์ย่อย 5 แห่ง ที่จังหวัดอุดรธานี สกลนคร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และอุบลราชธานี โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
– ฝ่ายข้อมูล: ได้ผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ที่จะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 รวม 111,090 คน (เป็นผู้จบหลักสูตรระยะสั้นมากที่สุด 85,300 คน หรือร้อยละ 76.78) ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้จบหลักสูตรระยะสั้น และ ปวช. รวม 97,830 คน เข้าทำงานในบริษัทเอกชน 30,284 คน และประกอบอาชีพตนเอง 30,659 คน นอกจากนี้ ได้จัดฝึกอบรมด้านข้อมูลระบบ Big Data System ให้กับสถานประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10,429 แห่ง และในอนาคตจะเร่งประชุมสร้างความเข้าใจเพื่อเพิ่มความร่วมมือกับสถานประกอบ พร้อมจัด Roadshow ในสถานประกอบการที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย
– ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ: ส่งเสริมผู้เรียนเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือและฝึกอบรมโครงการต่าง ๆ อาทิ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 9,674 คน, ทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติด้านอาชีวศึกษา 18,183 คน, สอบมาตรฐานวิชาชีพ 32,800 คน, ทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษ TOEIC 1,779 คน, การแข่งขันทักษะวิชาชีพ 22,150 คน, โครงการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นฐานสมรรถนะ (E to E) 19,308 คน และโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ 1,252 คน
– ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ: โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน 530 แห่ง, เครื่องจักรอุปกรณ์มูลค่ากว่า 53 ล้านบาท ทั้งเครื่องกลึง เครื่อง CNC เครื่องทดสอบ Strength ชุดฝึกเครื่องปรับอากาศ (SNC) เครื่องยนต์และชุดฝึกประกอบรถยนต์ กล้องวงจรปิด ชุดฝึก ทีวีดิจิทัล คอมพิวเตอร์ เป็นต้น พร้อมทั้งทรัพยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ครูฝึกประการวิชาชีพในสถานประกอบการ 850 คน ปราชญ์ชาวบ้าน ครูผู้ทรงคุณค่า และครูภูมิปัญญา รวม 255 คน และองค์กรนิติบุคคลได้มอบทุนการศึกษากว่า 1 ล้านบาทแก่ผู้เรียน 530 ราย
– ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ: ได้มีการพัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) แบบ Digital content แบบ STEM Education และแบบใช้นวัตกรรม ตลอดจนแบบชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) เพื่อให้สอดคล้องกับสาขาที่เป็นที่นิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ เทคนิคยานยนต์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ อิเล็กทรอนิกส์ การบัญชี และช่างไฟฟ้า พร้อมจะพัฒนาหลักสูตรและเปิดหลักสูตรใหม่ ได้แก่ สาขาโลจิสติกส์ ธุรกิจการบิน อาหารเพื่อการท่องเที่ยว ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ช่างซ่อมบำรุง งานติดตั้งไฟฟ้า งานควบคุมและซ่อมบำรุงขนส่งทางราง และการจัดการประชุมนิทรรศการ (Meeting Incentive, Convention and Exhibition: MICE)
– ฝ่ายวิจัยและพัฒนา: ได้ดำเนินการในหลายส่วน ได้แก่ การศึกษาความต้องการคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของพนักงานในสถานประกอบการ, ศึกษารูปแบบการสอนสอดคล้องกับสาขาอาชีพในอนาคต การเก็บผลงานนักเรียน, ศึกษาทักษะการคิดและเจตคติ ตลอดจนทักษะฝีมือก่อนที่ผู้เรียนจะจบการศึกษา ตลอดจนศึกษาแนวโน้มผู้สนใจจะศึกษาในสายอาชีพ และการขยายตัวของสถานประกอบการที่สอดคล้อง First S-Curve และ New S-Curve
4. ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือ (NEC TVET Career Center)
ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ และศูนย์ระดับจังหวัด 3 แห่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก และนครสวรรค์ โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
– ฝ่ายข้อมูล: ได้ผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ที่จะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 รวม 142,103 คน ซึ่งในจำนวนนี้จะเข้าทำงานในบริษัทเอกชน 69,572 คน (ร้อยละ 48.95) โดยเป็นผู้จบหลักสูตรระยะสั้น ที่เข้าทำงานในบริษัทเอกชนมากที่สุด ร้อยละ 76.60 นอกจากนี้ ได้จัดฝึกอบรมด้านข้อมูลระบบ Big Data System ให้กับสถานประกอบการในภาคเหนือ 7,388 แห่ง และในอนาคตจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สถานประกอบการมีความร่วมมือมากขึ้น อาทิ การประชาสัมพันธ์ไปยังสถานประกอบการ การส่งเจ้าหน้าที่และครูนิเทศฝึกงานไปประสานกับสถานประกอบการโดยตรง ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบ Big Data System กับสถานประกอบการที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเพิ่มเติม
– ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ: ส่งเสริมผู้เรียนเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือและฝึกอบรมโครงการต่าง ๆ อาทิ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 4,832 คน, ทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติด้านอาชีวศึกษา 52,305 คน, สอบมาตรฐานวิชาชีพ 52,305 คน, ทดสอบภาษาอังกฤษตามมาตรฐาน CEFR 500 คน, โครงการ Fix It Center 3,610 คน, โครงการอาชีวะอาสาร่วมด้วยช่วยประชาชน 1,863 คน, โครงการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นฐานสมรรถนะ (E to E) 5,490 คน, โครงการค่าย English Day Camp 4,300 คน, โครงการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น 1,030 คน, โครงการจัดการเรียนการสอน MEP 357 คน ตลอดจนการแข่งขันทักษะวิชาชีพ 2,537 คน
– ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ: โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ทุนการศึกษากว่า 3 ล้านบาท, งบประมาณ 5 แสนบาท, ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนครุภัณฑ์การเรียนการสอน, ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งครูฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการ 3,089 คน วิทยากรให้ความรู้เฉพาะด้าน 20 คน
– ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ: ได้มีการพัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) แบบกระบวนการผู้เรียนได้ลงมือทำ (Active Learning) แบบ STEM Education แบบ แบบใช้นวัตกรรม แบบชิ้นงานและโครงการ การฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจนครบหลักสูตร การศึกษาดูงานสาขาวิชาต่าง ๆ ตลอดจนการอบรมให้ความรู้และเล่าประสบการณ์ในอาชีพโดยครูฝึกจากสถานประกอบการ โดยมีสาขาที่เป็นที่นิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ เทคนิคยานยนต์ การบัญชี เทคนิคเครื่องกล คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และช่างไฟฟ้า
– ฝ่ายวิจัยและพัฒนา: ได้ดำเนินการในหลายส่วน ได้แก่ การวิจัยความต้องการแรงงานยุค Thailand 4.0 ของภาคเหนือ, คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของกำลังคนที่เป็นความต้องการของสถานประกอบการ และความต้องการความช่วยเหลือของผู้สูงอายุ
5. ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคใต้ (STGEC TVET Career Center)
ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต และศูนย์ย่อย 2 แห่ง ที่จังหวัดภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี ซึ่งครอบคลุมจังหวัดในพื้นที่ฝั่งอันดามัน และจังหวัดในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
– ฝ่ายข้อมูล: ได้ผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ที่จะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 รวม 79,722 คน ซึ่งในจำนวนนี้จะเข้าทำงานในบริษัทเอกชน รวม 32,104 คน (ร้อยละ 40.26) โดยเป็นผู้จบหลักสูตรระยะสั้น ที่เข้าทำงานในบริษัทเอกชนมากที่สุด ร้อยละ 70.72 นอกจากนี้ ได้จัดฝึกอบรมด้านข้อมูลระบบ Big Data Systems ให้กับสถานประกอบการในภาคใต้ รวม 6,423 แห่ง และในอนาคตจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สถานประกอบการมีความร่วมมือมากขึ้น อาทิ การประชาสัมพันธ์ไปยังสถานประกอบการ การส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานกับสถานประกอบการโดยตรง
– ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ: ส่งเสริมผู้เรียนเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือและฝึกอบรมโครงการต่าง ๆ อาทิ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 9,674 คน, ทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติด้านอาชีวศึกษา 27,589 คน, สอบมาตรฐานวิชาชีพ 28,130 คน, การแข่งขันทักษะวิชาชีพ 12,163 คน, โครงการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นฐานสมรรถนะ (E to E) 9,308 คน, ทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษ TOEIC 779 คน และโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ 1,252 คน
– ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ: โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ทุนการศึกษากว่า 4.8 ล้านบาท, งบประมาณ 8.5 ล้านบาท, งบประมาณปรับปรุงอาคารเรียน 7 ล้านบาท, เครื่องจักรอุปกรณ์ มูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาท ทั้งเครื่องยนต์เรือ Out Board ผลิตภัณฑ์สีรถยนต์ รถยนต์เก่า รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น, ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็น ครูฝึกในสถานประกอบการ 330 คน ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้านและครูภูมิปัญญา 82 คน
– ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ: ได้มีการพัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) แบบ STEM Education แบบการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) แบบใช้นวัตกรรม และแบบชิ้นงานและโครงการ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจนครบหลักสูตร นอกจากนี้ มีความพยายามที่จะรักษาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการเรียนใน 5 สาขาที่เป็นที่นิยม ทั้งการท่องเที่ยว เทคนิคยานยนต์ การโรงแรม การบัญชี และช่างไฟฟ้า ในขณะเดียวกันก็จะเปิดสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่เพิ่มเติม คือ งานซ่อมบำรุงเรือยอร์ช เทคนิคการเชื่อมอลูมิเนียม เทคนิคการจัดการอาคาร อาหารเพื่อการท่องเที่ยว ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ช่างซ่อมบำรุง เทคโนโลยียาง ควบคุมและซ่อมบำรุงขนส่งทางราง การบริการบนเรือสำราญ และธุรกิจการบิน
– ฝ่ายวิจัยและพัฒนา: ได้ดำเนินการในหลายส่วน ได้แก่ การศึกษาความต้องการคุณลักษณะของพนักงานและจำนวนความต้องการของสถานประกอบการ, ศึกษานวัตกรรมด้านซอฟแวร์และระบบสมองกลผ่าตัด, ศึกษาผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหาร, ศึกษาเครื่องมือทางด้านการแพทย์หรือทางการสาธารณภัย, ศึกษาผลิตภัณฑ์ทางด้านหัตถศิลป์ และศึกษาเทคโนโลยีชีวภาพ
6. ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคกลาง (CEC TVET Career Center)
ศูนย์หลักตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ และศูนย์ย่อยระดับจังหวัด 3 แห่ง ที่จังหวัดสมุทรปราการ ราชบุรี และสระบุรี โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
– ฝ่ายข้อมูล: ได้ผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ที่จะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 รวม 138,267 คน ซึ่งในจำนวนนี้จะเข้าทำงานในบริษัทเอกชน รวม 47,836 คน (ร้อยละ 34.59) นอกจากนี้ ได้จัดฝึกอบรมด้านข้อมูลระบบ Big Data Systems ให้กับสถานประกอบการในภาคใต้ รวม 4,800 แห่ง และในอนาคตจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สถานประกอบการมีความร่วมมือมากขึ้น อาทิ ประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบ Big Data System กับสถานประกอบการ และส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานกับสถานประกอบการโดยตรง
– ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ: จัดโครงการส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนด้านต่าง ๆ รวม 97 โครงการ อาทิ ด้านคุณภาพการเรียนการสอน ด้านภาษา ด้านประกอบอาชีพ ด้านมาตรฐานอาชีพ และด้านคุณธรรมจริยธรรม
– ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ: โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ งบประมาณ 24 ล้านบาท, เครื่องจักรอุปกรณ์ มูลค่ากว่า 5.6 ล้านบาท ผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้และฝึกทักษะ 606 คน ตลอดจนองค์กรนิติบุคคล 7,589 คน
– ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ: มีความพยายามที่จะจัดการเรียนการสอนเน้นคุณภาพและมาตรฐานการจัดการเรียนใน 5 สาขาที่เป็นที่นิยม สาขาที่เป็นที่นิยม ในเขตภาคกลาง 5 อันดับ ได้แก่ ยานยนต์ ช่างกลโรงงาน ไฟฟ้ากำลัง การบัญชี และคอมพิวเตอร์ธุรกิจ พร้อมส่งเสริมให้มีผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น ใน 5 สาขาที่มีความนิยมน้อย ได้แก่ ศิลปกรรม (เซรามิก) เทคโนโลยีศิลปกรรม แฟชั่นสิ่งทอ วิจิตรศิลป์ และคหกรรมธุรกิจดอกไม้และงานประดิษฐ์ ในขณะเดียวกันก็จะเปิดสาขาใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่เพิ่มเติม ได้แก่ ธุรกิจสถานพยาบาล แมคคาทรอนิกส์ ตัวถังและสีรถยนต์ แม่พิมพ์พลาสติกและโลหะ และการแปรรูปอาหาร
– ฝ่ายวิจัยและพัฒนา: ได้ดำเนินการในหลายส่วน ได้แก่ การทดลองใช้สื่อคอมพิวเตอร์ในการเรียนเรื่องการสื่อสารข้อมูลและเครือข่าย, พัฒนาการเขียนตำราอาหารและวัฒนธรรม และชุดควบคุมความเร็วมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงด้วยการสร้างสัญญาณ (P.W.M.) ในรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตลอดจนโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา-เอสโซ่ ประจำปีการศึกษา 2560
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวด้วยว่า ขอชื่นชมที่ทุกศูนย์สามารถดำเนินงานใน 5 ภารกิจดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนชัดเจน และเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ภายใต้ความร่วมมือประชารัฐ ตลอดจนครูอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ฝึกสอน และปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งการประชุมครั้งนี้นอกจากแต่ละภาคจะได้นำเสนอผลงานของตนเองแล้ว ยังได้รับรู้ข้อมูลและผลการดำเนินงานของศูนย์หลักในภูมิภาคอื่นที่จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ช่วยให้เกิดการต่อยอดและเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานที่ยั่งยืนได้ในอนาคต
ทั้งนี้ จะให้ สอศ.รวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบภายในเดือนสิงหาคมนี้ และในวันที่ 22 สิงหาคม 2561 จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำข้อมูลมาดูว่าสอดคล้อง เพื่อความถูกต้องแม่นยำอีกครั้ง และต้องการให้แต่ละศูนย์ภาคทำงานแข่งขันกันตามภารกิจทั้ง 5 ด้าน เพื่อยกระดับการทำงานให้เกิดความกระตือรือร้นและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเชื่อมั่นว่าการทำงานในแบบฉบับ 1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภาค 17 ศูนย์จังหวัด จะนำพาให้งานอาชีวศึกษาเดินหน้าต่อไปอย่างมีทิศทางและเป็นระบบ
Photo Credit