UN International Holocaust Memorial Day
2016 UN International Holocaust Memorial Day
องค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Thailand) – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมงานวันรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากลขององค์การสหประชาชาติ ประจำปี 2559 เมื่อวันพุธที่ 27 มกราคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมองค์การสหประชาชาติ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์
Never again means never again! On behalf of the Thai government, particularly the Ministry of Education, There is only one universal value, the value of love. There is only one language, the language of the heart. There is only one caste, the caste of humanity. |
วันที่ 27 มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิกร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกว่า 6 ล้านคน และผู้บริสุทธิ์อีกกว่า 5 ล้านคน ซึ่งเป็นเหตุการณ์อันทารุณและโหดร้ายในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ที่มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของการสังหารอย่างเป็นระบบ แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านมากว่า 70 ปีแล้ว แต่ในปัจจุบันยังมีความเกลียดชัง การทารุณ และเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัว เกิดขึ้นทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอดีตเป็นเครื่องเตือนสติให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันเหตุการณ์โหดร้ายไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ
ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการกล่าวสุนทรพจน์, การสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยและการจุดเทียน เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้จากไปในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, การร้องเพลง “Avinu Malkenu” ซึ่งเป็นบทสวดมนต์ของชาวยิว และเพลง Eli Eli, การบรรเลงเพลง “Sonata for Unaccompanied Violin” ซึ่งเป็นบทเพลงสุดท้ายของ แซนเดอร์ กูติ ที่ประพันธ์ขึ้นในค่ายกักกันก่อนเสียชีวิต, การบรรยายพิเศษเกี่ยวกับนายชิอูเนะ ซูกิฮารา นักการทูตชาวญี่ปุ่น ผู้ซึ่งออกวีซาและประทับตราหนังสือเดินทางให้กับชาวยิวที่ต้องการอพยพออกนอกประเทศลิทัวเนีย โดยสามารถช่วยชีวิตชาวยิวได้มากกว่า 6,000 คน จนกระทั่งในปัจจุบันมีทายาทของผู้รอดชีวิตจากการช่วยเหลือของนายชิอูเนะ ซูกิฮารา ทั้งหมดกว่า 80,000 คน
รวมทั้งการฉายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ แอนน์ แฟรงค์ เด็กหญิงชาวยิว ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้เขียนบันทึกประจำวันระหว่างที่หลบซ่อนตัวและถูกจับเข้าค่ายกักกันของนาซีจนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยบันทึกประจำวันของ แอนน์ แฟรงค์ ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือหลายภาษา ซึ่งเป็นการพรรณนาถึงเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โด่งดังที่สุด อีกทั้งเธอยังได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อเกียรติภูมิของมนุษย์
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
27/1/2559